xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” เทงบยุทธศาสตร์ทางน้ำ 10 ปี 7.66 หมื่นล้าน สั่งผุดแลนด์บริดจ์เชื่อมปากบารา-สงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” วางกรอบพัฒนาขนส่งทางน้ำ 10 ปี 7.66 หมื่นล้าน ดันเร่งด่วนปี 58 วงเงิน 2.2 พันล้าน ตั้งเป้าปี 59 เพิ่มขนส่งสินค้าทางน้ำจาก 15% เป็น 19% และลดค่าใช้จ่ายเหลือ 1.75 บาทต่อตันต่อ กม. “ประจิน” สั่งตั้งคณะทำงานศึกษาแลนด์บริดจ์ถนนและรถไฟเชื่อมปากบารากับสงขลาและทำความเข้าใจประชาชนใน 6 เดือน และสั่งกรมเจ้าท่าศึกษาความเป็นไปได้ยกสะพาน 3 แห่งในเจ้าพระยาเปิดทางเดินเรือ ด้าน “อาคม” เผย พ.ย.นี้ ไทย-พม่าลงนามพัฒนาท่าเรือและเขต ศก.พิเศษทวาย


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางน้ำวันนี้ (11 ต.ค.) ว่า แผนดำเนินงานเน้นการพัฒนาเพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้าทางลำน้ำ และชายฝั่งทะเล จาก 15% เป็น 19% ภายในปี 2559 เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์ การขนส่งทางน้ำให้เหลือ 1.75 บาทต่อตันต่อ กม. ภายในปี 2559 โดยแผนลงทุนระยะยาว 10 ปี (2559-2568) ด้านขนส่งทางน้ำมีวงเงิน 76,666.27 ล้านบาท

ทั้งนี้ วงเงินลงทุนระยะเร่งด่วนในปี 2558 จำนวน 2,206.07 ล้านบาท มี 4 โครงการ คือ 1. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง (การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท.) วงเงิน 782.25 ล้านบาท 2. โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะที่ 1) กทท. วงเงิน 1,049.65 ล้านบาท 3. โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) จ.กระบี่ และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี (กรมเจ้าท่า) วงเงิน 9 ล้านบาท 4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก โดยการก่อสร้างระบบป้องกันตลิ่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำทางเรือเดิน (ระยะที่ 1) กรมเจ้าท่า วงเงิน 365.17 ล้านบาท

ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูลนั้น ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าดำเนินการ พร้อมทั้งทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในเชิงยุทธศาสตร์นั้นจะต้องมีการเชื่อมท่าเรือปากบารา ซึ่งอยู่ฝั่งอันดามันกับท่าเรือสงขลา 2 ฝั่งอ่าวไทยด้วยการสร้างแลนด์บริดจ์ทั้งถนนและรถไฟ ระยะทาง 142 กม. เพื่อเสริมประสิทธิภาพลอจิสติกส์ด้านขนส่ง โดยในการดำเนินงานจะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องให้ได้ความชัดเจนภายใน 6 เดือน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเร่งด่วนปี 2558 และปี 2559 ที่จะต้องทำเป็นแผนแม่บท เช่น การขุดลอกร่องน้ำมาตรฐานในลำน้ำที่เป็นเส้นทางเดินเรือหลักให้มีความกว้างที่เรือสามารถเดินได้ตลอดทั้งปี เช่น แม่กลอง ท่าจีน ปิง วัง ยม น่าน ป่าสัก จะทำเป็นแผนแม่บท และแผนเร่งด่วนในปี และการเสริมความแข็งแรงของตลิ่งในแม่น้ำ และจัดทำเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่จักรยาน โดยดินที่ขุดขึ้นมานั้นจะนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นวัสดุก่อสร้างและทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ปัญหาในการขนส่งสินค้าทางเรือในเจ้าพระยาขณะนี้พบว่ามีสะพาน 3 แห่งที่ระยะห่างจากระดับน้ำกับท้องสะพานไม่ถึงเกณฑ์ 5.6 เมตร ได้แก่ สะพานพุทธมีระดับ 4.7 เมตร สะพานกรุงธนมีระดับ 5.1 เมตร สะพานนวลฉวีมีระดับ 5.3 เมตร จึงมอบหมายให้กรมเจ้าท่าศึกษาความเป็นไปได้ในการยกสะพานขึ้น ในขณะเดียวกันจะเจรจากับผู้ประกอบการเดินเรือเพื่อให้ออกแบบให้ไม่สูงเกินความจำเป็นเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้วย ส่วนสะพานในแม่น้ำป่าสักมีเกณฑ์ความสูงที่ 5 เมตรซึ่งมี 2 สะพานที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ คือ สะพานมนตรีพงษ์พานิช ที่ อ.ท่าช้าง มีระดับ 3.4 เมตร สะพานโพธิ์เอน สามัคคี มีระดับเพียง 3.7 เมตร ซึ่งจะปรับปรุงในลักษณะเดียวกัน

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารานั้น กรมเจ้าท่าจะต้องพิจารณายุทธศาสตร์รวม ทั้งการเชื่อมโยงกับท่าเรือสงขลาและการทำระบบขนส่งเชื่อม 2 ท่าเรือ เพื่อให้เห็นภาพรวมผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนท่าเรือระนองซึ่งปัจจุบันมี ปตท.ใช้เป็นท่าเรือหลักในการขนส่งน้ำมันนั้น ได้ให้ กทท.เร่งพิจารณารูปแบบการดำเนินธุรกิจรองรับ หากมีการเปิดด่านสิงขรเป็นด่านถาวร เชื่อมเมืองมะริด พม่า กับชุมพรเพราะอาจจะทำให้ปริมาณการจราจรลดลง

อย่างไรก็ตาม หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนพม่า มีภารกิจที่กระทรวงคมนาคมต้องสนับสนุน คือ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและเขตเศรษฐกิจทวาย ซึ่งภายในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการลงนามการพัฒนาโครงการระยะเริ่มต้น ในพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร โดยมีบริษัทเอกชนไทยยื่นข้อเสนอลงทุนซึ่งการพิจารณาและเจรจาจบในเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน โดยจะมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งจากท่าเรือทวายกับชายแดน ส่วนการพัฒนาท่าเรือทวายนั้น ทางพม่าคงจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดนั้น ทางกรมทางหลวงได้มีการศึกษาออกแบบรายละเอียดในเรื่องถนนและสะพานแล้ว และได้ขอให้ทางพม่ามีการตั้งคณะกรรมการพิจารณางบประมาณก่อสร้างที่จะรับผิดชอบร่วมกัน

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า การยกสะพาน 3 แห่งในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะต้องศึกษารายละเอียดรอบด้าน เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งเรื่องโบราณสถาน และผลกระทบด้านจราจร ซึ่งปัญหาระดับน้ำสูงและทำให้เรือติดสะพานมีประมาณ 3 เดือนต่อปี จึงต้องประเมินปริมาณจราจรทางน้ำว่ามีจำนวนมากแค่ไหน เพราะโดยหลักเรือจะติดสะพานขากลับเพราะไม่มีสินค้า เรือไม่หนัก ที่สำคัญจะต้องประเมินผลกระทบต่อชุมชน โดยเฉพาะสะพานพุทธเพราะมีระยะจากระดับน้ำน้อยมากและอยู่ใจกลางเมืองจะมีปัญหากระทบต่อชุมชนในบริเวณที่จะทำทางลาดเพื่อยกระดับสะพานให้สูงขึ้นแน่นอน โดยขณะนี้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการปรับความสูงของเรือที่มักมีบ้านอยู่บนสุด

ส่วนท่าเรือปากบารา ขณะนี้ผ่าน EIA แล้วแต่เงื่อนไข EIA ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ถือว่าต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนท่าเรือสงขลา 2 อยู่ระหว่างทำ EHIA ขณะที่รถไฟเชื่อมสองฝั่งการศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างส่งเรื่องไป EIA ในส่วนการคัดค้านของประชาชนนั้นไม่ได้มุ่งที่ท่าเรือ แต่กังวลว่าเมื่อมีท่าเรือแล้วในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดตามมานั้นจะอยู่จุดไหน และมีการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนอย่างไรมากกว่า ซึ่งตามแผนจะต้องใช้เวลาในการสรุปภาพรวมภายในปี 2558 เพื่อเริ่มต้นโครงการในปี 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น