xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าท่าลุ้น “นายกฯ” ลงพื้นที่ปากบาราปักธงก่อสร้างปี 61

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ  อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.)
กรมเจ้าท่าลุ้นปักธงก่อสร้างท่าเรือปากบารา ปี 61 หวัง “ประยุทธ์” ลงพื้นที่ทำความเข้าใจลดแรงต้าน พร้อมเสนอของบกลาง 50 ล้านปี 58 ศึกษาผลกระทบเชิงพื้นที่ ขีดเส้นปี 65 ไม่เกิดล้มแผนได้เลย ชี้แผนไม่ชัดเจนผู้ประกอบการเมินลงทุนบริหาร สายเดินเรือไม่มา ท่าเรือมาเลเซียกินรวบตู้สินค้าภาคใต้ของไทย

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ว่า ขณะนี้ได้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณกลางปี 2558 จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ โดยจะมีการศึกษาผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ในภาพรวมของพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากการมีท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลา รวมถึงมีระบบขนส่งทางรถไฟทางถนน (แลนด์บริดจ์) โดยจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 10 เดือน จากนั้นจะเดินหน้าของบประมาณปี 2559 เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) พร้อมกับทบทวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านการประเมินแล้วอีกครั้งในบางประเด็น วงเงินประมาณ 118 ล้านบาท โดยจะเสนอของบประมาณปี 2559

“ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจจะเดินทางไปดูพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือปากบาราซึ่งน่าจะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้กังวลที่ตัวท่าเรือปากบาราโดยตรงแต่กังวลเรื่องนิคมอุตสาหกรรมที่ตามมาว่าจะอยู่ตรงไหน ซึ่งการศึกษาภาพรวมผลกระทบเชิงพื้นที่รวมของทั้งภาคใต้จะช่วยให้รัฐบาลตอบคำถามและทำความเข้าใจกับประชาชนได้ ส่วนการถมทะเลนั้นมีการศึกษา EIA ทั้งระหว่างก่อสร้าง และเมื่อท่าเรือเปิดให้บริการไว้แล้ว”

ส่วนกรณีที่กรมเจ้าท่าขอเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรานั้น เป็นความจำเป็นตามข้อกฎหมาย ที่กำหนดว่า หากขออนุญาตใช้พื้นที่ ผู้ใช้ประโยชน์ได้จะต้องเป็นผู้ขออนุญาตเท่านั้น หมายถึงกรมเจ้าท่าจะต้องเดินเรือและบริหารท่าเรือเอง แต่ในทางปฏิบัติ เรือไม่ใช่ของกรมเจ้าท่าและท่าเรือจะต้องให้เอกชนเข้ามาบริหาร จึงต้องใช้คำว่าเพิกถอนอุทยานเพื่อให้ขอบเขตชัดเจน โดยล่าสุดได้ปรับลดขนาดพื้นที่ลงจากกว่า 5,000 ไร่ เหลือประมาณ 2,000 ไร่เศษ โดยรวมพื้นที่ในทะเลด้วย ทั้งนี้เป็นส่วนของการก่อสร้างท่าเรือประมาณ 292 ไร่ ที่เหลือเป็นเส้นทางให้เรือแล่นผ่าน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ทั้งนี้ ตามแผนล่าสุดคาดว่าจะศึกษาผลกระทบทุกด้านแล้วเสร็จในปี 60 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 61 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าคาดค่าก่อสร้างจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะก่อสร้างในปี 58 อีกประมาณ 20% โดยให้บริการในปี 65 โดยหากล่าช้ากว่านี้อาจจะต้องพิจารณายกเลิกโครงการ เนื่องจากตามยุทธศาสตร์แล้วจะไม่มีเอกชนสนใจเข้ามารับบริหารท่าเรือปากบาราเพราะหันไปลงทุนบริหารท่าเรือมาเลเซียที่มีความชัดเจนมากกว่า พร้อมทั้งดึงลูกค้าและสายเดินเรือไปหมดแล้ว โดยปัจจุบันปริมาณสินค้าในพื้นที่ภาคใต้มีกว่า 8 แสนตู้ต่อปี ต้องขนส่งโดยรถยนต์และรถไฟไปใช้ท่าเรือปีนังของมาเลเซีย หากไทยมีท่าเรือปากบาราจะช่วงชิงด้านการตลาดได้เพราะจะลดต้นทุนด้านการขนส่งให้ผู้ส่งออก เนื่องจากระยะทางสั้นกว่าประมาณ 100-200 กม. ขณะที่ขนส่งไปท่าเรือปีนังมีระยะทาง 300-400 กม. และรายได้จะอยู่ภายในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น