xs
xsm
sm
md
lg

เสวนาปฏิรูปสตูล ต้นแบบ “ปฏิรูปท้องถิ่น” คู่ขนาน “ปฏิรูปประเทศ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “สุริยะใส” ร่วม “พิภพ” 2 อดีตแกนสำคัญพันธมิตรฯ ร่วมเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปท้องถิ่นสตูลอย่างไร ในสถานการณ์ปัจจุบัน” ชี้โครงการสร้างท่าเรือปากบาราพาสตูลสู่นิคมอุตสาหกรรมพิษ ธุรกิจท้องถิ่นล่มสลาย ระบบนิเวศน์ทั้งหมดพังทลาย แนะประชาชนร่วม “ปฏิรูปท้องถิ่น” คู่ขนาน “ปฎิรูปประเทศ”

เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม โรงเรียนอนุบาลสตูล อ.เมือง จ.สตูล กลุ่มเครือข่ายต่อต้านระบอบทักษิณจังหวัดสตูล ได้เปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “จะปฏิรูปสตูลอย่างไร ในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดยมี 1.คุณสุริยะใส กตะศิลา แกนนำกลุ่มการเมืองสีเขียว 2 คุณพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 3.คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และ 4.คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส บรรณาธิการ หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ เข้าร่วมเสวนา

ซึ่งการเปิดเวทีเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ประชาชนในจังหวัดสตูลได้รับรู้ และเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดภายในจังหวัด โดยเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปประเทศในระดับท้องถิ่น คู่ขนานกับการร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศในระดับประเทศ

ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ มีประเด็นปัญหาหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงคือ โครงการเมกะโปรเจกต์สร้าง “ท่าเรือปากบารา” ที่ อ.ละงู จ.สตูล กล่าวคือ เป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลฝั่งภาคใต้ตะวันออก” (Southeast Seaboard Project) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการแลนด์บริดจ์” หรือ “ถนนเศรษฐกิจ” โดยมีโครงการจะสร้างถนนแลนด์บริดจ์ (Motor way) จากท่าเรือน้ำลึกปากบาราผ่านจังหวัดสตูล เชื่อมต่อไปยังทาเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 จังหวัดสงขลา

ซึ่งหากสามารถสร้างท่าเรือปากบาราได้สำเร็จ จังหวัดสตูล จะถูกสร้างให้กลายเป็นเมืองแห่งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับ “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” ที่จังหวัดระนอง และเมื่อพิจารณาจากที่ตั้งของจังหวัดสตูล ซึ่งมีชายฝั่งทะเลทางด้านทิศตะวันตกติดกับทะเลอันดามัน ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ท่าเรือปากบารา จะเป็นท่าเรือซึ่งเป็นแหล่งขนถ่ายน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลางข้ามมายังฝั่งอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการขนส่งน้ำมันทางทะเล ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จังหวัดสตูล จะต้องมีโรงกลั่นน้ำมันควบคู่กับท่าเทียบเรือปากบาราอย่างแน่นอน จังหวัดสตูล ก็จะกลายเป็นแหล่งที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อันนำมาซึ่งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม กระทบการทำประมงในท้องถิ่น ความหลากหลายของระบบนิเวศทางทะเลก็จะถูกทำลายลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น โครงการสร้างท่าเรือปากบาราจึงเป็นโครงการหนึ่งที่ชาวจังหวัดสตูลจะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ และศึกษาถึงผลได้ผลเสียอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นโครงการที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นโดยตรง

เมื่อจังหวัดสตูล ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเมืองแห่งนิคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ กลุ่มบุคคลที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ กลุ่มทุนสามานย์ แต่กลุ่มที่จะเสียผลประโยชน์คือ ธุรกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจากการทำวิจัยธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่กระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งความมั่งคั่งจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มทุนสามานย์ ในปัจจุบัน สตูล มีจุดเด่นอยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้แก่ ธุรกิจรีสอร์ต ร้านอาหาร บริษัทเรือทัวร์ ธุรกิจเรือตกปลา มัคคุเทศก์ ซึ่งธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้นล้วนทำโดยประชาชนให้แก่ท้องถิ่น ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจที่ดำเนินในลักษณะผูกขาดโดยกลุ่มทุน ฉะนั้นหากมีการเปลี่ยนโฉมให้จังหวัดสตูลเป็นเมืองนิคมอุตสาหกรรม จะส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นขาดรายได้ ธุรกิจในท้องถิ่นพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

นอกจากปัญหาโครงการสร้างท่าเทียบเรือปากบาราซึ่งอาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนชาวสตูลโดยตรง ยังมีปัญหาเฉพาะท้องถิ่นในจังหวัดสตูลอีกมากมาย เช่น เรื่องการศึกษา ซึ่งประชาชนชาวสตูลนับถือศาสนาอิสลามถึง 80% มีชาวไทยพุทธเพียง 50% เท่านั้น จึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีความหลากหลายมากกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ หรือแม้กระทั่งจังหวัดสตูล เป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในเรื่องการประมงท้องถิ่น มีภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องการทำประมงที่เข้มแข็ง ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นหรือไม่ที่ชาวสตูลจะปฏิรูปการศึกษาเฉพาะท้องถิ่น ให้ชุมชนสามารถจัดการศึกษาเองได้เพื่อให้มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต และภูมิปัญญาในท้องถิ่นนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เวที กปปส.ส่วนกลาง มีการตั้งเวทีระดมความคิดจากภาคประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งกระแสหลายภาคส่วนมีการเสนอเรื่อง “กระจายอำนาจการปกครอง” เช่น ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือการ “ปฏิรูปเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน” แม้กระทั่งการ “ปฏิรูปพลังงาน” ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน แต่ในขณะนี้ยังมิได้มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปพลังงานอย่างจริงจังแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้การขับไล่ระบอบทักษิณยังไม่เสร็จสิ้นซึ่งยังคงต้องใช้พลังของมวลมหาประชาชนเป็นพลังในการล้มระบอบทักษิณต่อไป แต่การระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ดำเนินทั้งการ “ขับไล่ระบอบทักษิณ” และ “การปฏิรูปประเทศ” ในลักษณะคู่ขนานเป็นสามารถสิ่งที่ทำได้ ขณะนี้การปฏิรูปประเทศไทยกลายเป็นวาระแห่งชาติ หลายภาคส่วนให้การสนับสนุน และอยากเห็นการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศมีต้นกำเนิดมาจากพัฒนาการของมวลมหาประชาชน เริ่มตั้งแต่คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขับไล่ระบอบทักษิณ จนสุดท้ายมาจบที่การปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมวลมหาประชาชนที่จะต้องรักษากระแสการปฏิรูปประเทศให้คงอยู่ไม่ตกไป ซึ่งในขณะนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่กระแสการปฏิรูปได้มาถึงระดับท้องถิ่นแล้ว ดังนั้น ประชาชนควรต้องใส่ใจกับการปฎิรูปในท้องถิ่น กล่าวคือ กลับมาใส่ใจปัญหาในบ้านของตนเองให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะหากการปฏิรูปเวทีใหญ่ในระดับประเทศของ กปปส.มีอันต้องล้มเหลว ส่วนท้องถิ่นก็สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปได้เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในเรื่อง “สิทธิชุมชน” ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเร่งทำคือ การสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของการปฏิรูปท้องถิ่นที่ตนเองอยู่

ดังนั้น การเปิดเวทีเสวนา “ปฏิรูปสตูลอย่างไร ในสถานการณ์ปัจจุบัน” จึงเปรียบเสมือนต้นแบบของการเริ่มปฏิรูปท้องถิ่นโดยภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นต้นแบบการเริ่มต้นปฏิรูปในระดับท้องถิ่นที่ทุกจังหวัดของประเทศไทยควรนำไปเป็นต้นแบบ เพราะเมื่อประชาชนตระหนักถึงการปฏิรูปท้องถิ่นตนเอง การปฏิรูปรูปในระดับประเทศจะสามารถดำเนินไปอย่างเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ “การปฏิรูปท้องถิ่น” สามารถดำเนินอย่างคู่ขนานไปพร้อมกันกับ “การปฏิรูปประเทศ” นั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น