แอร์พอร์ตลิงก์มึน ซื้อรถใหม่ 7 ขบวนติดปมระบบอาณัติสัญญาณซีเมนส์ล็อกรถยี่ห้ออื่นใช้ร่วมไม่ได้ ผลพวงจากการทำสัญญาเอื้อไว้ตั้งแต่เริ่มต้น คาดยื้ออีกนานเพื่อรอระดับนโยบายสรุป เสนอแผนสำรองแยกประมูลตัวรถกับระบบอาณัติสัญญาณ ด้าน “ประภัสร์” ชี้ต้องเปรียบเทียบภาพรวมไม่ใช่ดูแค่ราคาเปิดซองถูกที่สุด ออกตัวหนุนยี่ห้อเดิมจะได้ไม่มีปัญหา ขณะที่เคอร์ฟิวจำกัดเวลาเดินรถแค่ 3 ทุ่ม ทำผู้โดยสารหายวันละหมื่นคน
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงิน 4,855 ล้านบาทว่า ร.ฟ.ท.ได้พิจารณาร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ใกล้เสร็จแล้ว และคาดว่าเสนอให้ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) แอร์พอร์ตลิงก์พิจารณาได้ในการประชุมครั้งหน้า แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเปิดประกวดราคาได้เลยหรือไม่ เนื่องจากยังมีประเด็นที่ระบบอาณัติสัญญาณของเดิมเป็นของบริษัทซีเมนส์ หากรถใหม่ที่ชนะประมูลในราคาที่ต่ำที่สุดเป็นยี่ห้ออื่นจะมีปัญหาในเรื่องค่าซ่อมบำรุง ค่าอะไหล่ ค่าบริหารจัดการหรือไม่ ดังนั้นทางแอร์พอร์ตลิงก์ต้องพิจารณาเปรียบเทียบราคาในภาพรวมตลอดอายุการใช้งาน 25-30 ปี ไม่ใช่ดูแค่ราคารถถูกที่สุด
“ปัญหาจัดซื้อจัดจ้างของไทยคือดูราคาตอนเปิดซองถูกที่สุด แต่ไม่ได้ดูว่าเมื่อรวมกับค่าซ่อม ค่าอะไหล่ ค่าบริหารจัดการเป็นเท่าไร ยืนยันว่าการประมูลยังคงต้องเปิดกว้าง แต่ในฐานะผู้ซื้อก็ต้องดูผลกระทบด้วย ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ส่วนแนวคิดจะปลดล็อกระบบอาณัติสัญญาณของซีเมนส์พูดง่ายแต่ทำได้จริงหรือไม่ เพราะอย่างไรแต่ละยี่ห้อก็ต้องมีความลับคงไม่ยอมเปิดหมด ผมมั่นใจว่าในโลกนี้ไม่มีระบบอาณัติสัญญาณแบบเปิดแน่นอน และที่ผ่านมาแอร์พอร์ตลิงก์ควรให้ซีเมนส์ซึ่งเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณเป็นผู้ดูแลรถและระบบให้ เพราะหากรถมีปัญหาทางซีเมนส์ต้องรับผิดชอบชดเชยให้ เหมือน BTC และ BMCL ทำ แต่แอร์พอร์ตลิงก์ทำเองหมด พอมีปัญหาก็ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมดและยังไปทำให้กระทบระบบอื่นให้เสียหายไปด้วย” นายประภัสร์กล่าว
แหล่งข่าวจากแอร์พอร์ตลิงก์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวนอาจจะต้องชะลอไปอีกสักระยะ เนื่องจากติดปัญหาระบบอาณัติสัญญาณที่เป็นของซีเมนส์ โดยก่อนหน้านี้เคยหารืออย่างเป็นทางการกับทางซีเมนส์เพื่อขอให้ขายตัวควบคุมระบบอาณัติสัญญาณให้กรณีที่รถใหม่ที่ประมูลได้เป็นยี่ห้ออื่น โดยจะต้องให้ทาง ร.ฟ.ท.เจรจากับทางซีเมนส์เพื่อให้ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนด้วย แต่หากซีเมนส์ไม่ยินยอมแผนสำรองคือ แยกประมูลตัวรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ แอร์พอร์ตลิงก์คงทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะสัญญากำหนดแบบนี้มาตั้งแต่แรก จึงเลือกปลดล็อกที่ตัวรถก่อน ส่วนระบบอาณัติสัญญาณจะแก้ไขเมื่อดำเนินการในส่วนต่อขยายเส้นทางไปพญาไท-ดอนเมือง และกรุงเทพ-ระยอง เพราะหากเปิดกว้างทั้งรถและระบบจะมีความเสี่ยงสูงมาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันที่มีรถ 9 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ (รถไฟฟ้าด่วน (Express Line) 4 ขบวน รถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) 5 ขบวน โดยเป้าหมายในการซื้อรถไฟฟ้าใหม่ 7 ขบวนเพื่อเพิ่มความจุและความถี่ในการให้บริการ ซึ่งหากเป็นรถยี่ห้ออื่นจะมีปัญหาต่อพ่วงกับรถเดิมไม่ได้ หากจัดตารางแยกรถเก่ากับรถใหม่ทำไม่ได้ เนื่องจากความถี่ในการเดินรถสูงสุดคือ 8 นาที/ขบวนซึ่งจะใช้รถได้เพียง 8 ขบวน ขณะที่เฉพาะรถ City Line รวมเก่าและใหม่จะมีถึง 12 ขบวน เป็นการใช้งานไม่คุ้มค่า ดังนั้นคงต้องรอการตัดสินใจของ ร.ฟ.ท.และระดับนโยบาย
อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศเคอร์ฟิว 06.00 น.-22.00 น. ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือประมาณ 40,000 คนต่อวัน จากที่ก่อนหน้านี้มีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 50,000 คนต่อวัน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับของระบบที่ประมาณ 44,000 คนต่อวัน