xs
xsm
sm
md
lg

เร่งผลิตวิศวะด้านรถไฟรับระบบรางในงบ 2 ล้านล้าน สร้างความรู้ของตัวเองลดพึ่งพาต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจารย์ลาดกระบังชี้รางรถไฟไทยอายุกว่า 100 ปี ขาดการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอต้นเหตุตกรางถี่ เผยเปิดหลักสูตรวิศวะเร่งผลิตบุคลากรด้านระบบรางรองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐบาล ชี้อนาคตต้องการแรงงานเฉพาะทางกว่า 2,000 คน พร้อมโชว์เครื่องตรวจสภาพรอยร้าวในรางรถไฟ เน้นสอนครบวงจรตั้งแต่ผลิต สร้าง ซ่อม ระบบไฟฟ้า

นายณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เปิดเผยว่า สภาพทางรถไฟไทยในปัจจุบันเป็นระบบรถไฟทางเดี่ยวกว่า 91.10% ต้องรอสับรางหลีก รถทำความเร็วได้ประมาณ 30-50 กม./ชม. ส่งผลให้การเดินรถล่าช้ากว่าตารางเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อขบวน ในขณะที่รางมีอายุใช้งานกว่า 100 ปี การตรวจสอบสภาพไม่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ ส่วนการติดตั้งระบบมอนิเตอร์ทางแบบอัตโนมัติเป็นจุดๆ ต้องลงทุนสูงทำให้รางเกิดการชำรุด โดยเฉพาะรางที่อยู่ห่างตัวเมือง ซึ่งรถจะวิ่งด้วยความเร็วทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมากซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถไฟตกราง

ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โดยเน้นระบบรางทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้านั้น ถ้าทำได้จริงจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชน เพราะการขนส่งด้วยระบบรางประหยัดต้นทุนกว่าถนนถึง 3.5 เท่า และการพัฒนาเพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว ตรงต่อเวลาจะจูงใจให้การใช้รถยนต์ลดลง ทำให้ประหยัดการใช้พลังงาน แต่การใช้ระบบรางเป็นหลักจะต้องมีการวางโครงข่ายขนส่งอื่นๆ เข้ามาเชื่อมโยงเพื่อให้ลอจิสติกส์สมบูรณ์ รวมถึงต้องวางผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกันด้วย

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้ระบบรางทั่วโลกจะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เทคโนโลยีไฟฟ้าและแม่เหล็กขับเคลื่อน ส่วนประเทศไทยในอนาคตจะมีระบบรางที่เกิดขึ้นจากนโยบายของภาครัฐหลายโครงการแต่ยังขาดการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางขึ้นมารองรับ ซึ่งคาดว่ามีความต้องการบุคลากรด้านระบบรางไม่ต่ำกว่า 2,000 อัตรา ดังนั้น ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังจึงเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางรางในปีการศึกษา 2556 เป็นปีแรก โดยจะสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบรางที่มีความรู้แบบครบวงจรได้ประมาณ 40-50 คนต่อปี โดยจะเป็นหลักสูตรความรู้ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบ การตัดทาง ซ่อมบำรุง ระบบไฟฟ้า วิเคราะห์ความปลอดภัยของรถไฟทุกระบบ และนอกจากสถาบันฯ จะอยู่ในพื้นที่ทางรถไฟตัดผ่านทำให้สามารถเรียนรู้จากของจริงแล้ว ยังได้นำเครื่อง “Phased Array Ultrasonic” มูลค่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องตรวจสอบรอยร้าวในรางรถไฟด้วยคลื่น Ultrasonic มาใช้ประกอบการเรียนการสอนอีกด้วย

“จะเห็นได้ว่าปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ใช้ระบบรถของผู้ผลิตอย่างบริษัทซีเมนส์เป็นหลัก เมื่อเกิดปัญหาต้องปฏิบัติตามคู่มือ ซึ่งจะมีโค้ด หรือรหัสกำกับ ซึ่งจะต้องมีการติดต่อประสานกับบริษัทแม่ที่ประเทศเยอรมนีตลอดเวลา ไม่สะดวก แต่หากคนไทยสามารถพัฒนาบุคลากรและมีองค์ความรู้เป็นของตัวเองก็จะมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นไม่ต้องพึ่งพาบริษัทต่างชาติ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศโดยรวมอีกด้วย” นายณัฐวุฒิกล่าว

ปัจจุบันเส้นทางเดินรถไฟในประเทศไทยมีเส้นทางสายหลัก 5 สาย ได้แก่ สายเหนือระยะทาง 1,208 กิโลเมตร สายตะวันออกเฉียงเหนือระยะทาง 1,545 กิโลเมตร สายใต้ระยะทาง 4,758 กิโลเมตร สายตะวันออกระยะทาง 703 กิโลเมตร และสายแม่กลอง 64 กิโลเมตร รวมทั้งประเทศไทยเป็นระยะทาง 8,278 กิโลเมตร โดยมีรถตรวจสภาพรางพิเศษ EM80 เพียงคันเดียวในประเทศ สำหรับวิ่งทดสอบรางรถไฟกว่า 8,278 กิโลเมตร ซึ่งทำให้การตรวจสอบรางทั้งหมดมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนและต้องใช้ระยะเวลานานในการตรวจสอบ

กำลังโหลดความคิดเห็น