xs
xsm
sm
md
lg

ประมูลรถไฟฟ้า 800 ตู้ 4 หมื่นล้าน “ประภัสร์” โวขอ 6 เดือนฟื้น ร.ฟ.ท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - รฟม.เตรียมเสนอบอร์ดซื้อรถไฟฟ้ารวดเดียว 800 ตู้ วงเงิน 4 หมื่นล้านรองรับรถไฟฟ้า 10 สาย กำหนดทีโออาร์ให้ผู้ผลิตตั้งโรงงานประกอบในไทย ลดต้นทุน-สร้างแรงงานในประเทศและถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยเอกชนเห็นด้วย คาดเกิดใน 3 ปี ด้าน “ประภัสร์” ว่าที่ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ลั่นพร้อมทำงาน ขอ 6 เดือนเห็นโฉมใหม่ ปลุกพนักงานร่วมมือ ค้านแยกบริหารรถไฟความเร็วสูง-แอร์พอร์ตลิงก์

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จะเสนอแผนการประกวดราคาจัดหารถไฟฟ้า 800 ตู้ วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะแบ่งเป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail) 500 ตู้ และรถไฟฟ้ารางเดียว (Monorail) 300 ตู้ โดย รฟม.จะกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในทีโออาร์ให้ผู้จัดหาตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากมีความคุ้มค่ากว่าการสั่งซื้อขบวนรถและนำเข้ามาจากต่างประเทศแบบสำเร็จรูป โดยนอกจากลดต้นทุนการจัดหาแล้วยังเป็นการสร้างงานภายในประเทศและจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าด้วย โดยหากบอร์ดอนุมัติ รฟม.จะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นปีนี้

จากที่ รฟม.ได้สอบถามไปยังผู้ผลิตรถไฟฟ้าหลายรายในกรณีการตั้งโรงงานประกอบในไทยนั้น ทั้งบริษัทซีเมนส์, บริษัทฮิตาชิ, คาวาซากิ, อัลสตอม และบอมบาดิเย่ร์ ทุกรายมีความพร้อมที่จะมาดำเนินการ โดยบริษัทซีเมนส์เห็นว่าหากมีการสั่งซื้อรถไฟฟ้า Heavy Rail มากกว่า 100 ตู้ขึ้นไป การลงทุนตั้งโรงงานประกอบในไทยจะคุ้มค่า ส่วนบริษัทฮิตาชิเห็นว่าการลงทุนคุ้มค่าเมื่อสั่งซื้อตั้งแต่ 500 ตู้ขึ้นไป โดยแนวคิดของการจัดหารถไฟฟ้าแบบ Heavy Rail อาจต้องมี 2 ราย และรถไฟฟ้า Monorail อีก 1 ราย รวมเป็น 3 ราย ซึ่งตามแผนจะพิจารณาตั้งโรงงานในพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าแต่ละสายทาง โดยเลือกจากทั้งหมดที่มี 8 แห่ง

“การตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสานต่อแนวคิดของนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าฯ รฟม. และว่าที่ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เคยมีการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งรถไฟฟ้า 10 สายต้องใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด 1,200 ตู้ แต่เบื้องต้นจะจัดหาก่อน 800 ตู้ วงเงิน 30,000-40,000 ล้านบาท คิดว่าภายใน 3 ปีน่าจะได้เห็นโรงงานประกอบรถไฟฟ้าแห่งแรก ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อไม่ทัน ดังนั้นอาจต้องจัดหาแบบเดิมก่อนประมาณ 60 ตู้” นายยงสิทธิ์กล่าว

“ประภัสร์” ขอ 6 เดือนปรับโฉม ร.ฟ.ท.

นายประภัสร์ จงสงวน ว่าที่ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ภายหลังได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เป็นผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. จะเร่งปรับปรุงแผนธุรกิจรถไฟที่มีแผนฟื้นฟูองค์กร การบริหารจัดการด้านบุคลากร เพราะหากดำเนินการได้ตามแผนจะทำให้รถไฟพ้นจากปัญหาขาดทุนได้ โดยสิ่งแรกที่จะต้องทำคือ พัฒนาบุคลากรให้มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ซึ่งมั่นใจว่าพนักงานการรถไฟฯ ทุกคนพร้อมที่จะทำให้การรถไฟฯ เปลี่ยนไปให้ทางที่ดีขึ้น และ ร.ฟ.ท.จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน 6 เดือนหลังจากที่ได้เริ่มปฏิบัติงาน ส่วนแนวคิดในการแยกการบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟฟ้าความเร็วสูงออกจาก ร.ฟ.ท.นั้น ส่วนตัวเห็นว่า ร.ฟ.ท.ยังมีความสามารถในการบริหารทั้ง 2 โครงการได้

สำหรับปัญหาการบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ เป็นอีกปัญหาที่ต้องเข้าไปดูแล โดยอาจจะต้องมีการหารือร่วมกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตลอดริมทางรถไฟ รวมถึงหาแนวทางช่วยเหลือรองรับหรือที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อย้ายผู้บุกรุกออกจากพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น