เอสเอพีระบุผลประกอบการไตรมาส 2 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังแรงไม่ตก โตมากกว่าใครในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ติดกัน 10ไตรมาส โดยไทยยังติดท็อป 3 ประเทศที่เติบโตสูง แจงลูกค้าใหม่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีถึง 95%
นายโทมัส คอนราด แซค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอพี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ผลประกอบการของเอสเอพีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ยังคงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเป็นตัวเลข 2 หลักได้ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 10 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ทางเอสเอพีมีการลงทุนในนวัตกรรมต่างๆ ทั้งที่พัฒนาขึ้นเองและจากการเข้าซื้อกิจการในเชิงยุทธศาสตร์ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยระบบฐานข้อมูลที่เรียกว่า เอสเอพี ฮาน่า ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเข้าสู่ตลาดเมื่อไม่นานมานี้เติบโตสูงสุด 103% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่โซลูชันโมบายล์มีอัตราการเติบโตที่มากกว่าถึง 181% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
"ในไตรมาสที่ 2 นี้ เอสเอพี เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นมีรายรับจากซอฟต์แวร์และบริการที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์โตขึ้น 23% ในขณะที่ยอดรายรับโดยรวมโตขึ้น 25%"
สำหรับผลประกอบการในประเทศไทยยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ติดท็อป 3 ในภูมิภาคนี้ โดยกระจายไปในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต น้ำมันและก๊าซ โดยเฉพาะตลาดทางด้านโทรคมนาคม และตลาดธนาคาร
"หลายคนมักจะติดภาพว่าเอสเอพีเป็นบริษัทซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่จริงๆ แล้วสัดส่วนรายได้ของเอสเอพีประมาณ 80% มาจากตลาดเอสเอ็มอี ที่เหลือมาจากตลาดองค์กรขนาดใหญ่"
นายโทมัสกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้เอสเอพีในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการที่เอสเอพีมีการพัฒนาโครงการอีโคซิสเต็มส์สำหรับพาร์ตเนอร์ที่ช่วยขยายตลาดให้กับเอสเอพีให้เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทในประเทศไทยมีความพร้อมที่จะลงทุนระบบไอที โดยทางเอสเอพีเองก็มีโซลูชันที่ตรงความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นโซลูชันบริหารจัดการทางด้านธุรกิจที่เรียกว่า บี1 ที่ออกแบบมาสำหรับตลาดเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ รวมถึงโซลูชันอื่นๆ กว่า 30 โซลูชันให้เลือกใช้ตรงความต้องการขององค์กรในแต่ละอุตสาหกรรม
"ในไตรมาสที่ 2 นี้ ลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นเอสเอ็มอีประมาณ 90-95% ขณะที่ลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จะเป็นลักษณะของการซื้อโซลูชันเพิ่มเติมมากกว่า"
นายโทมัสยอมรับว่า สัดส่วนการใช้งานซอฟต์แวร์ในรูปแบบเก่าในตลาดประเทศไทยยังคงสูงอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มที่บริษัทต่างๆ เริ่มหันเปลี่ยนมาใช้โซลูชันใหม่ๆ อย่างเช่นเทคโนโลยีดาต้าเบสที่รวมถึงเอสเอพี ฮาน่า โซลูชันทางด้านโมบิลิตี และระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจหรือบีไอมากขึ้น ซึ่งเอสเอพีมีความพร้อมในโซลูชันใหม่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเซอร์วิสในแบบออนดีมานด์ รวมถึงโซลูชันซอฟต์แวร์บนระบบคลาวด์ ที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทยสามารถตัดสินใจได้ทันทีด้วยข้อมูลวิเคราะห์ธุรกิจในแบบเรียลไทม์รับกับสภาพการแข่งขันในตลาดที่กำลังเปิดเสรี
"สิ่งที่บริษัทในไทยจะนำไปใช้แข่งขันหลังจากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียนไม่ใช่เรื่องของผลิตภัณฑ์ แต่เป็นเรื่องของการบริหารทรัพยากรมนุษย์มากกว่า ซึ่งเอสเอพีมีโซลูชันทางด้านนี้ที่เรียกว่า ซักเซสแฟกเตอร์บนระบบคลาวด์ ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างบริษัทซีเมนส์ โคลาโคล่า ที่นำโซลูชันนี้มาใช้แล้ว ปัจจุบันมีผู้ใช้โซลูชันนี้อยู่ทั่วโลก 15 ล้านราย"
นายโทมัสกล่าวว่า สำหรับโซลูชันบนระบบคลาวด์นั้น ทางเอสเอพี ประเทศไทยยังไม่ได้ผลักดันตลาดนี้มากนัก เนื่องจากตลาดคลาวด์ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีบริษัทใหญ่ๆ ในเมืองไทยที่เริ่มลงทุนโซลูชันซอฟต์แวร์ในระบบคลาวด์มากขึ้น
Company Related Link :
SAP