xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีฯ โฟกัสลงทุนโรงไฟฟ้าพม่า ลุ้น ส.ค.นี้รู้ผลประมูลที่มัณฑะเลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ตั้งเป้า 10 ปีเพิ่มกำลังผลิตอีก 3,857 เมกะวัตต์รวมเป็น 9,700 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 3 แสนล้านบาท วางเป้าหมายลงทุนในพม่าคิดเป็น 1/3 ของกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่ม แย้ม ส.ค.นี้รู้ผลประมูลสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 200 เมกะวัตต์ที่มัณฑะเลย์ เตรียมจ่อประมูลเพิ่มอีก 2-3 โครงการในพม่า ส่วนญี่ปุ่นรอผลศึกษาสรุปสิ้นเดือนนี้

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่ากิจการ (Enterprise Value) เพิ่มขึ้นถึง 2.8 แสนล้านบาทในปี 2566 จากมูลค่าปัจจุบันที่ 1.08 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 3,857 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้นเป็น 9,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตและพัฒนาโครงการรวม 6,543 เมกะวัตต์ หรือจะต้องมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มปีละกว่า 300 เมกะวัตต์ และจะใช้เงินลงทุนราว 3 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าให้บรรลุเป้าหมายนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเป็นหลัก โดยตั้งเป้าลงทุนโรงไฟฟ้าที่พม่าคิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มในต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าในลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนออสเตรเลียและญี่ปุ่นจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เนื่องจากการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่ในไทยมีโอกาสน้อย ทั้งจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองทำให้ไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารจัดการ และการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้แนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าใหม่จะเป็นการใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง

“บริษัทมองเห็นศักยภาพการลงทุนโรงไฟฟ้าในพม่า เนื่องจากเป็นประเทศที่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก และสามารถจ่ายไฟเข้าระบบในไทยได้ ขณะที่ไทยโอกาสพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทำได้ยาก การลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในลาวก็เหลือไม่มาก แต่ถ้าขนาด 200-300 เมกะวัตต์ยังมีอีกมาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการแสวงหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในเอเชียแปซิฟิกอยู่ตลอด”

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบไม่มากเพียง 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอล์ดโคเจนเนอเรชั่น ยูนิต 1 กำลังผลิต 112 เมกะวัตต์ เข้าระบบในเดือน พ.ย. นี้ และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สงขลา กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ จ่ายไฟในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย แต่จะชดเชยในปีหน้า เพราะมีโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ยูนิต 1 กำลังผลิต 626 เมกะวัตต์จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. และถัดไปอีก 4 เดือนโรงไฟฟ้าหงสา ยูนิต 2 จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่ม และยูนิตสุดท้ายอีก จะจ่ายไฟในปีถัดไป รวมทั้งสิ้น 1,887 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นในโครงการนี้ 40%

นายพงษ์ดิษฐกล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าประมูลสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาด 200 เมกะวัตต์ที่มัณฑะเลย์ ประเทศพม่าว่า บริษัทฯ ได้ผ่านการคัดเลือกทางด้านเทคนิคในรอบแรก เป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 8 ราย คาดว่าจะรู้ผลการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าได้ไม่เกิน ส.ค.นี้ หากบริษัทฯ ชนะประมูลจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการนี้บริษัทถือหุ้น 60% ที่เหลือเป็นพันธมิตรท้องถิ่น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลสร้างโรงไฟฟ้าที่รัฐบาลพม่าเตรียมเปิดประมูลอีก 2-3 โครงการ ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงด้วย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง ที่พม่า ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ คาดว่าปลายปีนี้จะได้ข้อสรุปผลศึกษา หลังจากนั้นก็จะเจรจาค่าไฟฟ้าและประมูลการก่อสร้าง พร้อมทั้งยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าท่าซาง โดยโครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินกว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ 8-10 ปี

ส่วนความคืบหน้าการร่วมทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน พ.ค.นี้ หากผลการศึกษาเหมาะสมการลงทุนก็จะเดินหน้าตั้งบริษัทร่วมทุนและดำเนินการลงทุนในเฟสแรกที่เกาะฮอนชู 30 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ วางแผนลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นไว้ 3 เฟส รวม 120-150 เมกะวัตต์

นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิสูงขึ้นกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.18 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโรงไฟฟ้าเดิมทำให้ลดต้นทุนลง และทำให้มูลค่ากิจการ (Enterprise Value) เพิ่มขึ้นเป็น 109,947 ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในปีนี้อยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท และปีถัดไป 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าหงสาถึง 5 พันล้านบาท

สำหรับการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2557 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 12,700 ล้านบาท และกำไร 2,365 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ โรงไฟฟ้าของบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น และโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศ เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น