xs
xsm
sm
md
lg

RATCH ยื่นผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ที่เมียนมาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ยื่นลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าปากเหมือง 600เมกะวัตต์ที่เชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ คาดได้ข้อสรุป 3 เดือนนี้ พร้อมทั้งขอขยายพื้นที่แปลงสำรวจถ่านหินเพิ่ม หากพบปริมาณถ่านหินสำรองมากจะขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 1.2 พันเมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 300 เมกะวัตต์ที่เมียนมาร์ผ่านการคัดเลือกรอบแรกเป็นอันดับ 2 มั่นใจชนะประมูล มิ.ย.นี้

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้บริษัทฯ จะยื่นขอลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินปากเหมือง กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ที่เชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ มูลค่าเงินลงทุน 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท คาดว่ารัฐบาลเมียนมาร์จะพิจารณาและอนุมัติได้ประมาณ 3 เดือนข้างหน้า

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ จะยื่นขอขยายพื้นที่การสำรวจและพัฒนาเหมืองถ่านหินเพิ่มเติมจากเดิม 2 ล้าน ตร.ม.เป็น 200 ล้าน ตร.ม. ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะพบปริมาณถ่านหินเพิ่มเติม ซึ่งหากพบว่าเป็นแหล่งถ่านหินที่มีปริมาณสำรองเพียงพอก็จะขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 600 เมกะวัตต์เป็น 1.2 พันเมกะวัตต์ โดยการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ 90% จะขายเข้าประเทศไทย ที่เหลือขายให้การไฟฟ้าเมียนมาร์ แต่หากเมียนมาร์ต้องการไฟฟ้าเพิ่มเติมก็สามารถจ่ายไฟเพิ่มให้ได้ตามต้องการ

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเจรจาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากรัฐบาลเมียนมาร์เห็นชอบโครงการ ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 5-6 ปี เพราะต้องใช้เวลาในการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การจัดหาแหล่งเงินกู้ด้วย

“จากการสำรวจพื้นที่พบว่ามีปริมาณสำรองถ่านหิน 80-100 ล้านตัน เพียงพอที่จะสร้างโรงไฟฟ้าปากเหมืองขนาด 600 เมกะวัตต์ เป็นถ่านหินลิกไนต์ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าหงสาที่ สปป.ลาว จึงได้ยื่นขอขยายพื้นที่ในการสำรวจและพัฒนาเหมือง หากมีปริมาณสำรองถ่านหินเพิ่มมากขึ้นก็จะขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 ยูนิตรวมเป็น 1.2 พันเมกะวัตต์ พร้อมทั้งดึง กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าร่วมทุนในโครงการนี้ด้วย เนื่องจากเป็นบริษัทย่อยของ กฟผ.”

นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ยื่นขอเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงขนาด 300 เมกะวัตต์ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์นั้น ล่าสุดบริษัทฯ ได้ผ่านการคัดเลือกเป็นอันดับ 2 จากผู้ที่ยื่นประกวดราคาถึง 19 ราย โดยเป็นรองจากบริษัท ซูมิโตโม ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลเมียนมาร์จะให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นทั้ง 8 ราย ยื่นรายละเอียดเงื่อนไขทางการเงินและเงื่อนไขอื่นๆ มาพิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้

โดยบริษัทฯ ยังมีความมั่นใจว่าข้อเสนอของบริษัทฯ จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะดำเนินโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นบริษัทเอกชนไทยรายแรกที่เข้าไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในเมียนมาร์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจะใช้ในประเทศเมียนมาร์

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 พันล้านบาท โดยบริษัทฯ จะถือหุ้น 60-70% ที่เหลือเป็นการถือหุ้นโดยนักลงทุนท้องถิ่น คือบริษัท โกลเด้น กรีน เอนเนอยี (GGE) โครงการนี้ไม่มีความเสี่ยงด้านการจัดหาเงินกู้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ให้การสนับสนุนและมีการระบุทีโออาร์และสัญญารับซื้อไฟฟ้า (พีพีเอ) 25 ปีที่เป็นมาตรฐานระดับสากลซึ่งเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าอื่นๆ ต่อไป ทำให้มีผู้ยื่นความสนใจทำโครงการถึง 19 โดยมีบริษัทไทยถึง 3 รายที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกนี้

“หากบริษัทฯ ได้รับเลือกเป็นผู้ชนะโครงการ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จยูนิตแรก 100 เมกะวัตต์ได้ก่อนสิ้นปี 2558 ส่วนยูนิตที่เหลือจะทยอยแล้วเสร็จ”

นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due Diligence) โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ ขนาดเล็ก กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ บริเวณย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 6 เดือน มีสัญญาซื้อขายไฟแล้ว โดยผู้ถือหุ้นเดิมต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง โดยจะขายหุ้นส่วนใหญ่ 60% ให้บริษัทฯ เข้าไปถือหุ้นแทน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน เม.ย.นี้

นอกจากนี้ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 2,000 เมกะวัตต์ที่เมียนมาร์ด้วย แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 30 เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ โดยเบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้น 60% ที่เหลือคือ บมจ.เชาว์สตีล โดยบริษัทฯ ได้ศึกษาการลงทุนไว้ 110-120 เมกะวัตต์ แต่จะทยอยสร้างทีละเฟส เฟสละ 30 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 3.6 พันล้านบาท

การขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องนั้น สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจบริษัท 10 ปีข้างหน้า (2557-2566) จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ 6,543 เมกะวัตต์ สร้างมูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นเป็น 280,000 ล้านบาทในปี 2566 จากปัจจุบันมูลค่ากิจการอยู่ที่ 114,000ล้านบาท โดยตั้งงบลงทุน 10 ปีไว้ที่ 100,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด ประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวขนาด 410 เมกะวัตต์ ที่ สปป.ลาว โดยมี 4 สถาบันการเงินไทยได้ปล่อยกู้ให้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต
กำลังโหลดความคิดเห็น