“อมตะ บี.กริม เพาเวอร์” ตั้งเป้า 5 ปีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 5 พันเมกะวัตต์ จากปัจุบันผลิตอยู่แล้ว 733 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.อยู่แล้ว 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้นใช้เงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท พร้อมจ่อลงทุนในต่างประเทศทั้งเมียนมาร์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย วางเป้าหมายผลิตในต่างประเทศแค่ 200-300 เมกะวัตต์ ชี้ 1-2 ปีนี้จะใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาทในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP4 โรง โดยแหล่งทุนจะมาจากการขยายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ หรือนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เปิดเผยภายหลังการเปิดโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ อมตะ บี.กริม เพาเวอร์(ระยอง) 1 และ 2 อย่างเป็นทางการ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง โดยมีพลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงานวานนี้ (24 ก.พ.) ว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 5 พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าเปิดทำการแล้ว 6 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 733 เมกะวัตต์ และมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้า SPP ให้ครบ 16 โรงในปี 2562 คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 2 พันเมกะวัตต์ ใช้เงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลา 25 ปีอยู่แล้ว
โรงไฟฟ้าเอสพีพีที่จะขยายเพิ่มเติมให้ครบ 16 โรงนั้นส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้การต่อต้านจากชุมชนในท้องถิ่นมีน้อย และไม่มีปัญหาการขอใบอนุญาต รง.4 เหมือนโรงไฟฟ้าที่อยู่นอกนิคมฯ
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า เป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตอีก 3 พันเมกะวัตต์เป็น 5 พันเมกะวัตต์ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท โดยบริษัทเล็งเห็นศักยภาพธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยบริษัทฯ มองลู่ทางการลงทุนธุรกิจไฟฟ้านอกเหนือจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงไปสู่พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำก็ให้ความสนใจเช่นกัน โดยสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย เป็นต้น
“เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 5 พันเมกะวัตต์ใน 5 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นหลัก การลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเท่าที่ประเมินคงไม่ถึง 200-300 เมกะวัตต์ ดังนั้นบริษัทฯ คงต้องรอดูแผนพีดีพีใหม่ที่จะประกาศมาว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน เพราะลำพังให้ กฟผ.ลงทุนเองก็มีข้อจำกัด ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมพื้นที่ในการยื่นขอโรงไฟฟ้า SPP ใหม่หากเปิดรับซื้อรอบใหม่ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าไอพีพีที่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซฯ เนื่องจากพันธมิตรทางธุรกิจอย่างซูมิโตโม ก็มีความเชี่ยวชาญโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเช่นกัน”
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น 2-3 โครงการ โครงการละ 40-50 เมกะวัตต์ จะมีความชัดเจนในปีนี้ โดยยอมรับว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ปัจจัยสำคัญอยู่ที่เจ้าของที่ดิน เนื่องจากราคาที่ดินแพงมาก ทำให้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ปฏิเสธการลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นไปแล้ว 1 โครงการ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิต 160 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลเมียนมาร์จะเปิดประมูลสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวใกล้เมืองมัณฑะเลย์ โดยเบื้องต้นมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลถึง 18 ราย แต่รัฐบาลเมียนมาร์จะเลือก 5 รายจากชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของผู้ประมูลก่อนให้ยื่นรายละเอียดการเสนอราคาค่าไฟฟ้าอีกครั้ง คาดว่าเดือนหน้ารัฐบาลเมียนมาร์จะมีความชัดเจนออกมา อีกทั้งบริษัทฯ ยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเมียนมาร์ด้วย โดยยอมรับว่าเมียนมาร์เพิ่งเปิดประเทศ ทำให้กฎระเบียบยังไม่ชัดเจนทำให้มีความเสี่ยงในการจัดหาเงินกู้ก็ตาม
ส่วนการลงทุนในมาเลเซียนั้น บริษัทฯ สนใจโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีขนาดใหญ่ ทำให้เงินลงทุนสูงมาก คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
นางปรียนาถกล่าวต่อไปว่า การลงทุนใน 1-2 ปีนี้บริษัทฯ จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาทสำหรับสร้างโรงไฟฟ้า SPP อีก 4 โรง โดยจะเป็นเงินลงทุนในส่วนทุนประมาณ 2.5-3 พันล้านบาท ซึ่งเงินส่วนทุนนี้บางส่วนได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินแล้ว แต่ยังมีเม็ดเงินอีก 2 พันล้านบาทที่ต้องจัดหา โดยพิจารณาว่าอาจจะขยายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ABPIF) ที่มีขนาดกองทุนอยู่ 6.3 พันล้านบาท โดยขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุนฯ หรือจะนำบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าปีนี้จะมีความชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางใด
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 14,400 ล้านบาท เนื่องจากจะมีโรงไฟฟ้าที่จะเดินเครื่องพาณิชย์เพิ่มขึ้น 2 โรง และคาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโตขึ้นอีกในปี 2558 เนื่องจากยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างอีก 4 โครงการ โดยตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี 2 โครงการ และในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี อีก 2 โครงการ ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกใน 480 เมกะวัตต์
“ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้กลุ่ม บี.กริม โดยปีที่แล้ว กลุ่ม บี.กริม มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนปัญหาการเมืองที่ไม่สงบนั้นมีผลกระทบไม่มากนักเนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวเมื่อเทียบกับท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบในทันที แต่ความผันผวนทางการเมืองในระยะยาวทำให้การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมลดลงด้วยเช่นกัน”