xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ยังไม่เคาะประมูลแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ติง TOR ไม่สมบูรณ์หวั่นสเปกใหม่เสี่ยงกว่าเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.ส่อชะลอซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน “ประภัสร์” ชี้ TOR ไม่ค่อยสมบูรณ์ ระบุตรวจสอบเพื่อความรอบคอบ เป็นธรรม เผยแนวคิดควรเจรจารายเดิม ข้อดี รู้ราคา ส่วนข้อบกพร่องตัวรถสั่งแก้ไขได้ ลดความเสี่ยง และไม่ต้องแก้ระบบอาณัติสัญญาณ รอหารือ รมว.คมนาคมคนใหม่ตัดสินใจ

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้พิจารณาร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) การจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงิน 4,855 ล้านบาท หลังจากทางบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้จัดส่งมาให้ ร.ฟ.ท.ในฐานะบริษัทแม่ตรวจสอบเพื่อความรอบคอบ และเป็นธรรม โดยเห็นว่าร่าง TOR ดังกล่าวยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร ซึ่งหลักการจะต้องกำหนดเสปกที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างไปที่รายใดรายหนึ่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของ ร.ฟ.ท.นั้นเห็นว่าแนวคิดที่ดีที่สุดในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มคือการเจรจากับผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้ารายเดิม เนื่องจากรู้ข้อมูลและปัญหาในการให้บริการ รวมถึงราคาเบื้องต้นแล้ว โดยส่วนที่เป็นปัญหาข้อบกพร่องของระบบและตัวรถไฟฟ้านั้นสามารถให้ผู้ผลิตดำเนินการปรับแก้ไขใหม่ได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ยังไม่ต้องลงทุนในเรื่องระบบอาณัติสัญญาณอีกหากการประมูลนี้ได้รถที่ไม่ใช่ยี่ห้อเดิม

“มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เปิดประมูล ซึ่งต้องปฏิบัติตาม เพราะตอนเสนอ ครม.ผมยังไม่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ซึ่งหากถามผมก็จะเสนอแนวทางการเจรจากับรายเดิมก่อนเพราะสามารถดูราคาที่สมเหตุสมผลได้ ส่วนข้อบกพร้องสั่งให้แก้ไขได้ สำหรับการซื้อใหม่ได้รถยี่ห้อใหม่ โดยกำหนดสเปกเอง ถือเป็นการสร้างความเสี่ยงใหม่” นายประภัสร์กล่าว

นายประภัสร์กล่าวว่า หลังมีรัฐบาลชุดใหม่แล้วจะนำเสนอแนวคิดนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่พิจารณา ซึ่งอาจจะส่งผลให้การจัดหาขบวนรถใหม่ล่าช้าไปบ้าง เสียเวลาอีกหน่อยแต่ได้ของที่ไม่มีความเสี่ยงน่าจะคุ้มกว่า ส่วนจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้นเกิดจากการการชุมนุมทางการเมืองไม่ได้เกิดจากการปรับปรุงบริการที่ดีจนประชาชนพึงพอใจและหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ดังนั้นทาง บ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จะถือเอามาเป็นข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญว่าการให้บริการประสบความสำเร็จแล้วคงไม่ได้ เพราะเป็นจำนวนผู้โดยสารในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และควรเร่งเดินหน้าพัฒนาปรับปรุงบริการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เคยระบุว่า เบื้องต้นได้เชิญผู้ผลิตรถไฟฟ้า 7-8 ราย เช่น ซีเมนส์ อัลสตอม รวมถึงผู้ผลิตจากสเปน จีน ฯลฯ มารับฟังแนวทางแล้วได้รับการยืนยันว่าสเปกที่ต้องการเปิดกว้างในการประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) ไม่มีการปิดกั้นให้รายใดรายหนึ่งเนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาไปมากแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับมอบรถหลังจากลงนามในสัญญาแล้ว 2 ปี และสามารเพิ่มความถี่การเดินรถได้ ทำให้ผลประกอบการก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBITDA) ของบริษัทฯ มีกำไร หรือมีรายได้มากกว่ารายจ่าย และมีสถานะทางการเงินเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ แอร์พอร์ตลิงก์มีรถไฟฟ้า 2 ประเภท คือ รถไฟฟ้าด่วน (Express Line) มี 4 ขบวน และรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 5 ขบวน ซึ่งรถไฟฟ้าธรรมดาสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45,000 คนต่อวัน แต่ในปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 54,000 คนต่อวัน โดยใช้ขบวนรถด่วนมาเสริมในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งได้ใช้รถไฟฟ้าทุกขบวนเต็มกำลังศักยภาพแล้ว แต่หากมีรถไฟฟ้า City Line เพิ่มอีก 7 ขบวนจะสามารถรองรับผู้โดยสาร ได้ 96,000-100,000 คนต่อวัน และยังเพิ่มความถี่ในการให้บริการ จากเดิม 12-15 นาที เป็น 8-10 นาที
กำลังโหลดความคิดเห็น