xs
xsm
sm
md
lg

ร้านค้าเมินเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์แอร์พอร์ตลิงก์ ตั้งเป้าเปิดซิตี้เช็กอิน-รับจ้างเดินรถสีแดงเพิ่มรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์
พัฒนาเชิงพาณิชย์แอร์พอร์ตลิงก์แป้ก ร้านค้าเมินเหตุค่าเช่าแพง มักกะสันสุดเหงา แม้ผู้โดยสารเพิ่มแต่ไม่เดินเข้าอาคาร จ่อปรับผู้รับสัมปทาน คาดปี 57 ผู้โดยสารโต 7-10% “พีรกันต์” เผยหารือ ทอท.ดึงแอร์ไลน์ เปิด “ซิตี้ เช็คอิน” ที่มักกะสันในอีก 6 เดือน ปูพรมเตรียมแผนรับจ้างเดินรถสายสีแดง และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง

นายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 8 สถานี ซึ่งบริษัท โคอาซะ มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 8 สถานี ได้แก่ สถานีพญาไท ราชปรารภ มักกะสัน รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง และสุวรรณภูมินั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 57 นี้จะครบ 1 ปีที่สัญญากำหนดให้บริษัทต้องปรับปรุงพื้นที่ทุกสถานีให้ได้รวม 20% ของพื้นที่ทั้งหมด 5,788.20 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันพัฒนาได้ประมาณ 15% เท่านั้น โดยเฉพาะสถานีมักกะสันสามารถพัฒนาไปได้เพียง 50 ตารางเมตรจากพื้นที่สัมปทาน 2,800 ตารางเมตร ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ครบตามสัญญาบริษัทจะต้องถูกปรับ 2 แสนบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่พัฒนาได้น้อยและไม่ค่อยมีผู้สนใจเช่าซึ่งอาจมีสาเหตุจากราคาค่าเช่าที่บริษัทฯ กำหนดสูงเกินไปหรือไม่ ทางบริษัทต้องเร่งแก้ปัญหา นอกจากนี้การพัฒนาร้านค้าต่างๆ ที่บริษัทฯ ต้องลงทุนระบบไฟฟ้าและโครงสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกนั้นอาจจะเป็นอุปสรรค ซึ่งจะเจรจากับทางบริษัทฯ รวมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะคู่สัญญาด้วยเพื่อเร่งรัดให้บริษัทฯ ดำเนินการตามสัญญา เบื้องต้นในส่วนของปีแรกถึงกุมภาพันธ์ 2557 บริษัทต้องพัฒนาพื้นที่ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด อาจผ่อนผันให้อีก 6 เดือน โดยตามระเบียบ ร.ฟ.ท.สามารถริบเงินประกันได้

“จะรอให้ครบปีแรกก่อนว่าทำได้แค่ไหน ส่วนปีที่ 2 ต้องพัฒนาพื้นที่ให้ได้ 40% ของพื้นที่ทั้งหมด ปีที่ 3 เพิ่มเป็น 60% ปีที่ 4 เป็น 80% ปีที่ 5 ครบ 100% แต่คงไม่ปล่อยให้ล่าช้าไปเรื่อยๆ ต้องหาทางแก้ไข ในมุมของแอร์พอร์ตลิงก์เห็นว่าประเด็นเรื่องจำนวนผู้โดยสารเป็นปัจจัยหนึ่ง เช่นที่มักกะสัน ภายหลังเปิดใช้ Sky walk เชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT ที่สถานีเพชรบุรีทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่เดินเข้ามาตัวอาคารด้านในแต่ก็หาทางพัฒนาหาผู้เช่าในรูปแบบอื่นได้ เช่น โรงเรียนกวดวิชา หรือจัดอีเวนต์ แทนการตั้งเป็นร้านค้าอย่างเดียว”

นายพีรกันต์กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มมากขึ้นจากเฉลี่ย 4.6-4.7 หมื่นคนต่อวันเป็น 5-6 หมื่นคน/วัน โดยปี 2556 มีรายได้จากค่าโดยสาร 518.84 ล้านบาทลดลงจากปี 2555 ที่มีรายได้ 523 ล้านบาทเนื่องจากผู้โดยสารขบวน Express Line ลดลงคาดว่าปี 57 ผู้โดยสารจะเติบโตอีก 7-10% เนื่องจากมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ทางเข้าออกสถานี และผู้โดยสารมีความมั่นใจในบริการทั้งความรวดเร็ว และตรงต่อเวลาขึ้น

นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ในการดำเนินโครงการซิตี้เช็กอิน (City Check-in) ที่สถานีมักกะสัน สำหรับผู้โดยสารทั้งภายในและระหว่างประเทศของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 6 เดือนนี้ โดยจะขอความร่วมมือกับ ทอท.ให้ประสานกับทางสมาคมธุรกิจการบิน (AOC) เพื่อบริหารการให้บริการให้สอดคล้องกับการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ที่เปิดช่วง 06.00-24.00 น. ในขณะที่สนามบินเปิดตลอด 24 ชม. โดยอาจจะเน้นผู้โดยสารเป็นกรุ๊ปทัวร์และผู้โดยสารพรีเมียม เพื่อลดความแออัดและรอเช็กอินของผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยอาจจะให้สิทธิ์ ทอท.ในการบริหารพื้นที่หลังเช็กอินประมาณ 6,000 ตารางเมตรสำหรับเป็นร้านค้าปลอดภาษีและห้องรับรองพิเศษได้เพราะเป็นรัฐวิสาหกินเหมือนกัน

สำหรับแผนระยะยาวตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จะจัดหารถไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับจ้างเดินรถสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน, บางซื่อ-รังสิต) ของ ร.ฟ.ท. และการเปิดเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย พญาไท-ดอนเมือง และรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายตะวันออก (กรุงเทพฯ-ระยอง)


กำลังโหลดความคิดเห็น