xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เปิดรับฟังความเห็นไฮสปีดเทรน “สุวรรณภูมิ-ระยอง” ความยาว 206 กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีาชา-ร.ฟ.ท.ถกการมีส่วนร่วมชาวบ้านครั้งที่ 1 ประเดิมเวิร์กชอปโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เผยเส้นทางสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 206 กม.เดินหน้าต่อเนื่อง ชี้รอ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านผ่าน โครงการเกิดแน่ เชื่อได้ประโยชน์รับ AEC

วันนี้ (13 ก.ย.) ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยอง (โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก) โดยมีตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน และชุมชนในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเข้าร่วม

นายจุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกรกำกับการกองก่อสร้างเขต 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในส่วนของโครงการเส้นทางภาคตะวันออก ให้ข้อมูลว่า เรื่องดังกล่าวรัฐบาลได้ให้ศึกษา และพัฒนาขยายทางรถไฟต่อจากโครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังชลบุรี เมืองพัทยา และระยอง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่าย และบริหารการจัดการระบบขนส่งเพื่อรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้ทำการศึกษาออกแบบโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงรวมทั้งสิ้น 4 เส้นทาง ประกอบด้วย สายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กม. สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 608 กม. สายใต้ กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กม. และสายตะวันออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-ระยอง ระยะทาง 206 กม.

ในส่วนของเส้นทางภาคตะวันออกรวมระยะทาง 206 กม. เริ่มต้นโครงการที่สถานีบางซื่อ-มักกะสัน ระยะทาง 7 กม. ใช้เวลาในการเดินทาง 6 นาที (ความเร็ว 160 กม./ชม.) จากสถานีมักกะสัน-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 23 กม. ใช้เวลาเดินทาง 14 นาที (ความเร็ว 160 กม./ชม.) จากสถานีสุวรรณภูมิ-ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 32 กม. ใช้เวลาเดินทาง 14 นาที (ความเร็ว 250 กม./ชม.) จากสถานีฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ระยะทาง 46 กม. ใช้เวลาเดินทาง 16 นาที (ความเร็ว 250 กม./ชม.) จากสถานีชลบุรี-พัทยา 50 กม. ใช้เวลา 16 นาที (ความเร็ว 250 กม./ชม.) และจากสถานีพัทยา-ระยอง ระยะทาง 55 กม. ใช้เวลาเดินทาง 19 นาที (ความเร็ว 250 กม./ชม.)

นายจุลเทพ เผยต่อว่า เส้นทางภาคตะวันออกมีการทำงานลงรายละเอียดกันอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องการศึกษารูปแบบระบบปฏิบัติการเดินรถ งานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ในวันนี้เป็นการปฐมนิเทศโครงการซึ่งได้นำเสนอข้อมูลแนวทางเลือกที่ 2 ซึ่งไม่ตัดเข้าสถานีฉะเชิงเทรามาร่วมเสนอแนะเพื่อพิจารณาหาความเหมาะสม โดยหลังจากนี้จะดำเนินการพบปะหารือ และรับฟังความคิดเห็นผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่โครงการ ก่อนประชุมย่อยผู้มีส่วนเสีย และผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้จะได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

เส้นทางสายตะวันออก เป็นโครงการที่มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ผ่าน รัฐบาลคงให้ดำเนินการในทันที เพราะคณะทำงานได้ทำงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน

ด้านนายสายันต์ อิ่มสม-สมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก กล่าวด้วยว่า โครงการเส้นทางภาคตะวันออกจะเป็นการเชื่อมต่อ 2 ท่าอากาศยานคือ ดอนเมือง กับสุวรรณภูมิ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้การขนส่งตามมาอย่างมากมาย เส้นทางก็จะยึดเส้นทางรถไฟเป็นหลัก อาจมีการปรับช่วงทางโค้งบางช่วงบางตอน เพราะรถไฟฟ้าต้องใช้ความเร็วสูง

ขณะที่รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารที่พักผู้โดยสารส่วนใหญ่ถูกออกแบบแนวโค้งมนเพื่อระบายถ่ายเทอากาศได้เป็นย่างดี ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมดำเนินการพิจารณาแนวทางในส่วนของเส้นทางในอนาคต ที่จะเชื่อมต่อจากสถานีระยอง ไปถึงจังหวัดตราดด้วย หากโครงการมีความคืบหน้าจะสามารถรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ระบบการขนส่งในภาคตะวันออกจะเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งอนาคตจะเป็นได้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก


จุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกรกำกับการกองก่อสร้างเขต 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น