ร.ฟ.ท.เซ็นจ้างออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (กทม.-ระยอง) 251.4 ล้านบาท เร่งสรุปใน 14 เดือน “ประภัสร์” เผยหลัง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านผ่านจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนได้ปลายปีนี้ มั่นใจเปิดประมูลก่อสร้างได้ก่อนสายอื่น ตั้งเป้าให้เดินรถได้ในปี 62 พร้อมสั่งศึกษาต่อถึงตราดอีก 100 กม.
วันนี้ (1 ก.ค.) นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธานในการลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม สำรวจ และออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระหว่าง ร.ฟ.ท. กับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา AEC วงเงิน 251.4 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 14 เดือน โดยนางสร้อยทิพย์เปิดเผยว่า การว่าจ้างที่ปรึกษาล่าช้ากว่าแผนที่จะเริ่มงานตั้งแต่ต้นปี หากเป็นไปได้จะให้ที่ปรึกษาเร่งสรุปการศึกษาภายใน 10 เดือน พร้อมกับให้ดำเนินการเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คู่ขนานไปด้วย เนื่องจากแนวเส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในเขตทางรถไฟ จึงมั่นใจว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ก่อนสายอื่น
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การก่อสร้างจะใช้เขตทางรถไฟที่มีอยู่เป็นหลักจึงจะเวนคืนที่ดินน้อยมากเฉพาะส่วนที่เป็นอู่ซ่อมบำรุง (Depot) และรัศมีทางโค้งเพื่อความปลอดภัย โดยไม่ผ่านพื้นที่อ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเป็นการออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) ดังนั้นเมื่อ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทผ่านจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินได้ทันที คาดว่าอยู่ในช่วงปลายปี 2556-ต้นปี 2557 และจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เปิดประกวดราคาก่อสร้างได้เป็นสายแรกในปี 57 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2562
ทั้งนี้ โครงการนี้ไม่ใช่ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (มักกะสัน-สุวรรณภูมิ)เนื่องจากความเร็วต่างกัน ระบบอาณัติสัญญาณจะต้องแยกกัน ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะประชุมร่วมกับที่ปรึกษาเพื่อหารือถึงรายละเอียดการศึกษาออกแบบ โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เบื้องต้นพบว่าพื้นที่ใต้อาคารผู้โดยสารของสุวรรณภูมิอาจไม่เพียงพอที่จะให้รถไฟความเร็วสูงเข้าไปได้ จึงอาจต้องหาพื้นที่บริเวณสถานีลาดกระบังหรือทับช้างเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางไประยองโดยไม่ต้องย้อนกลับมามักกะสันหรือบางซื่อ พร้อมกันนี้ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบเส้นทางต่อจากระยองไปถึงจังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรด้วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม
“มีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจกับที่ปรึกษาในการออกแบบ เช่น แนวเส้นทางช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ จะใช้ทางร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ (มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) แต่จะแยกระบบอาณัติสัญญาณ เพราะแอร์พอร์ตลิงก์ความเร็ว 160 กม./ชม. ส่วนรถไฟความเร็วสูงความเร็ว 250 กม./ชม. รวมถึงจะต้องนำข้อผิดพลาดจากโครงการแอร์พอร์ตลิงก์มาเป็นบทเรียน และต้องไม่เกิดซ้ำอีก เมื่อเปิดให้บริการจะต้องเป็นเส้นทางที่มีความสมบูรณ์ไม่ถูกต่อว่าเหมือนที่ผ่านมา ส่วนความคืบหน้าโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (พญาไท-ดอนเมือง) นั้น การออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างรอการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อเพื่อโครงสร้างเชื่อมกัน” นายประภัสร์กล่าว
สำหรับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 100,631 ล้านบาท ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 15 นาที เริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ (เป็นระบบใต้ดิน)-คลองสามเสน-พระราม 6-พญาไท จากนั้นใช้ทางร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ โดยแยกระบบอาณัติสัญญาณไปถึงสุวรรณภูมิ จากนั้นไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออกผ่านฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-พัทยา สิ้นสุดทางรถไฟปัจจุบันที่พลูตาหลวง และเวนคืนที่ดินเพิ่มเพื่อต่อไปถึงสถานีระยอง โดยจะเป็นเส้นทางที่รองรับทั้งการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 13.28% ประมาณการผู้โดยสารปีที่เปิดให้บริการเบื้องต้นที่สถานีต้นทาง 28,000 คนต่อวัน และสถานีปลายทางระยองที่ 8,000 คนต่อวัน