สนข.เปิดรับฟังความเห็นรถไฟความเร็วสูงสายใต้ (กรุงเทพฯ-หัวหิน) 225 กม. ก่อสร้างเสร็จปี 62 เดินทางแค่ 1 ชม. “ปลัดจังหวัดนครปฐม” ชี้ค่าโดยสารช่วงนครปฐม-หัวหิน 500 บาทควรทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งก่อนเปิดให้บริการ
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อนำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวเส้นทางที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
จังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม โดยจะใช้เวลาศึกษา 7 เดือน โดยคาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในต้นปี 2557 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเสนอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างต่อไป
สำหรับการดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ขณะนี้ สนข.ได้ข้อสรุปเส้นทางในการก่อสร้างแล้วจากทั้งหมด 5 แนวทางเลือก โดยเส้นทางก่อสร้างส่วนใหญ่จะยึดตามแนวเส้นทางรถไฟไทยเส้นทางสายใต้เดิม คือช่วงที่ 1 จากสถานีบางซื่อถึงอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เริ่มต้นจากสถานีรถไฟกลางบางซื่อใช้เขตทางตามแนวรถไฟสายใต้ผ่านจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี บรรจบสถานีเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ส่วนช่วงที่ 2 ช่วงที่ผ่านอำเภอเมืองเพชรบุรีเป็นทางรถไฟยกระดับ โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเพชรเกษมที่อยู่ระหว่างทางหลักและทางขนานเป็นที่ตั้งเสาโครงสร้างทางยกระดับของรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร และบรรจบเข้าทางรถไฟเดิมผ่านอำเภอชะอำ เข้าสู่สถานีหัวหิน รวมระยะทางสายกรุงเทพฯ-หัวหิน 225 กิโลเมตร
โดยศักยภาพของรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหินนั้นสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 700 คน/เที่ยว ใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ-หัวหินเพียง 1 ชั่วโมง พร้อมระบบป้องกันรถไฟอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Full ATP) และระบบอาณัติสัญญาณควบคุมขบวนรถระดับมาตรฐานสากล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง รวมทั้งเชื่อมโยงกับระบบรถไฟทางคู่เพื่อรองรับการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ของภูมิภาค ทำให้การเดินทางของประชาชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างทั่วถึง ถึงที่หมายอย่างรวดเร็วและกำหนดเวลาได้ ส่งเสริมศักยภาพของธรุกิจท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ได้ประมาณการความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ณ ปี พ.ศ. 2572 โดยประเมินผลประโยชน์ด้านต่างๆ ตั้งแต่สถานีบางซื่อ-สถานีหัวหิน เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ 713.0 ล้านบาท/ปี ลดมูลค่าเวลาในการเดินทาง 182.0 ล้านบาท/ปี ลดมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุ 10.9 ล้านบาท/ปี และลดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 573.3 ล้านบาท/ปี
การพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเดินทางและขนส่งที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมสู่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐม ให้เป็นเมืองสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมปลอดภัย และเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งเมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จในปี 2562 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาจังหวัด และคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐมได้ถึง 561.92 ล้านบาท/ปี นับเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดอีกด้วย ขณะเดียวกัน สนข.ก็ให้ความสำคัญต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมและข้อกังวลของชุมชน จึงได้ทำการศึกษาผลกระทบและกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมที่สุด
นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ ปลัดจังหวัดนครปฐม กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากเส้นทางตัดผ่านจะทำให้จังหวัดนครปฐมได้รับการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งประชาชนก็ได้รับประโยชน์ ส่วนอัตราค่าโดยสารช่วงนครปฐม-หัวหิน ที่เบื้องต้นระบุว่าจะมีการคิดค่าโดยสารที่อัตรา 500 บาทนั้น เชื่อว่าจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมของการเดินทางอย่างแน่นอนภายหลังการก่อสร้างโครงการเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการกำหนดอัตราที่เหมาะสมอีกครั้ง