xs
xsm
sm
md
lg

กางแผน “มหานครโคราช” รับลงทุน 2 ล้านล้าน ท้องถิ่นเสนอสร้างบีอาร์ทีเชื่อมสถานีไฮสปีด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” รับไอเดียมหานครโคราช ท้องถิ่นเสนอสร้างรถเมล์ด่วน พิเศษ (BRT) เชื่อมตัวเมืองกับสถานีรถไฟความเร็วสูง “ชัชชาติ” เปิดกว้างนักลงทุน หอการค้าในพื้นที่ เสนอแผนพัฒนา เน้นความต้องการของจังหวัดเป็นหลัก เชื่อมีรายได้ใช้คืนเงินกู้อีกทาง เผย พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านผ่านสภา พร้อมเดินหน้ามอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช และรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนาและนิทรรศการ Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลกที่มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2556 ว่า นครราชสีมา (โคราช) เป็นประตูหน้าด่านจังหวัดภาคอีสาน โดยมีโครงการลงทุนในพระราชบัญญัติการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทถึง 320,558 ล้านบาท ซึ่งหลายโครงการต้องผ่านโคราช โดยโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จะเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยขณะนี้ผ่านการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว และอยู่ระหว่างการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ.เวนคืน) ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร วงเงิน 170,450 ล้านบาท โดยระยะแรกจะเป็นช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาแน่นอน โดยกำลังศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะสามารถเสนอผลต่อคณะกรรมการ EIA ได้ในเดือนกรกฎาคม และหากผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาก็จะสามารถเปิดประกวดราคาได้ทันที

ทั้งนี้ ทุกโครงการที่จะดำเนินการจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก จึงอยากให้ประชาชน หอการค้า ภาคเอกชนในพื้นที่ตื่นตัวและร่วมเสนอความคิดว่าต้องการพัฒนาหรือลงทุนในพื้นที่อย่างไร เนื่องจากสถานีรถไฟความเร็วสูงจะมีการเปิดเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อให้คนในพื้นที่เข้ามาลงทุนก่อน จะไม่ใช้รูปแบบสัมปทานรายเดียวทั้งโครงการเพราะอยากให้แต่ละสถานีนำเสน่ห์ของท้องถิ่นมาสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน โดยจะไม่มีเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใดๆ ซึ่งที่โคราชนั้น ล่าสุด นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครราชสีมา ได้เสนอที่จะทำรถเมล์ด่วนพิเศษ (BRT) เชื่อมจากสถานีรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมาด้วย

“เป็นข้อเสนอที่ดีเพราะคนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมโดยตรง ไม่อยากให้สถานีเป็นห้างสรรพสินค้าเหมือนกันไปหมด และสามารถนำรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์มาใช้คืนเงินกู้ได้ส่วนหนึ่ง ส่วนอัตราค่าโดยสารนั้นต้องอยู่ในระดับที่รับได้ โดยกำหนดให้สัมพันธ์กับจำนวนผู้โดยสาร ถ้าค่าโดยสารแพงคนก็ไม่มาใช้ ค่าโดยสารถูกไปโครงการก็เป็นไปไม่ได้ ซึ่งค่าโดยสารอาจจะสูงกว่ารถ บขส. หรือการใช้รถส่วนตัวแต่เดินทางได้เร็วกว่าประมาณ 1.5-2 ชม. การเดินทาง ท่องเที่ยว สะดวกรวดเร็วขึ้นก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจโคราชกระจายรายได้สู่คนในพื้นที่” นายชัชชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงจะมีการพิจารณากลั่นกรองอีกครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงต้นปี 2557 และเปิดประมูลงานระบบและตัวรถก่อนงานโยธา เนื่องจากมีการท้วงติงสภาผู้แทนราษฎรรอบที่ผ่านมาว่าควรจะเปิดประกวดราคางานโยธาก่อนเช่นที่เคยดำเนินการในโครงการอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น