xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.กู้ 2 ล้านล้าน ชี้รถไฟความเร็วสูงขาดทุน เทคโนโลยีไม่พร้อม “ชัชชาติ” ยันคุ้มค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กิตติรัตน์” นั่ง ปธ.ประชุม กมธ.กู้ 2 ล้านล้าน “วิฑูรย์” บี้ สนข.-ร.ฟ.ท.เผยรายละเอียดใช้งบฯ เพื่อความโปร่งใส กมธ.ชงเคลียร์รถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่ ขาดทุน 2 หมื่นล้าน และความคุ้มค่าเวลา ผอ.สนข.แจงศึกษาค่าโดยสารตามความเร็ว ในแผนแม่บท สิ้นปีถึงชัด พร้อมเยียวยาตามความจริง “อนุชา” ชี้เทคโนโลยีไม่พร้อม ไม่คุ้มค่า เชื่อพัฒนารางคู่ดีกว่า รมว.คมนาคมมั่นใจคุ้มค่าชัวร์









วันนี้ (22 เม.ย.) การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงบประมาณ สำนักปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเข้าชี้แจงในครั้งนี้ โดยนายวิฑูรย์ นามบุตร กมธ.ฝ่ายค้านได้ทวงถามความคืบหน้าการศึกษาโครงการที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม หรือ สนข. และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการศึกษาและใช้งบประมาณแล้วหรือไม่ โดยต้องการให้เปิดเผยถึงรายละเอียดดังกล่าว เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน

ขณะที่คณะกรรมาธิการได้สอบถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุน เนื่องจากมองว่าผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะขาดทุนถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะขาดทุนมากกว่าสายกรุงเทพฯ-หนองคาย รวมถึงความคุ้มค่าของเวลาในการเดินทางที่ล่าช้ากว่าเครื่องบิน เพราะมีระยะทางถึง อ.เด่นชัย จ.ลำปางเท่านั้น

นายจุฬา สุขมานพ คณะกรรมาธิการและผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม หรือ สนข. ชี้แจงว่าผลการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ศึกษาราคาค่าโดยสารตามระดับความเร็ว 120 กม.ต่อ ชม. 160 กม.ต่อ ชม. และ 250 กม.ต่อ ชม. ซึ่งการศึกษาในระดับแผนแม่บท หากโครงการไหนมีความพร้อมก่อนจะเริ่มดำเนินการทันที โดยภายในสิ้นปีนี้ก็จะมีความชัดเจน ซึ่งการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ส่วนการเยียวยาผลกระทบจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์จริง

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี คณะกรรมาธิการ แสดงถึงความกังวลเรื่องเทคโนโลยี เนื่องจากไทยยังไม่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี และบุคลากร ซึ่งอาจต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเกรงว่าเมื่อเริ่มดำเนินจะไม่คุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจตามที่ตั้งเป้าไว้ หากถึงเวลาที่จะต้องเริ่มดำเนินการจริง จึงเห็นว่าควรพัฒนาระบบรางคู่ตามแผนเดิมที่วางไว้

นอกจากนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ มองว่าความคุ้มค่าในการลงทุนของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เกิดจากการแบ่งของระบบขนส่งจากสิ่งที่มีอยู่ หรือการสร้างความต้องการการบริโภคขึ้นมาใหม่ โดยมองว่าผลตอบแทนในการลงทุนจะเป็นความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราค่าโดยสารก็อยู่กับต้นทุนในการดำเนินงาน ส่วนเรื่องของการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาคนั้น ก็ต้องขึ้นอยูกับความพร้อมของประเทศนั้นๆ ด้วย












กำลังโหลดความคิดเห็น