xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.จ่อปิดเดินรถสายเหนือ 15 วันซ่อมใหญ่ เล็งต้น พ.ย.แก้ตกรางซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” หนุนเปิดเดินรถไฟสายเหนือ 15 วันซ่อมทางครั้งใหญ่ แนะทำแผนรอบคอบไม่ให้กระทบประชาชน ด้าน “ประภัสร์” เตรียมชงแผนปิดช่วงศิลาอาสน์ถึงเชียงใหม่ช่วงต้น พ.ย.หลังเคลียร์ตั๋วเดินทางล่วงหน้าหมด เผยได้โอกาสเร่งปรับปรุงทางในอุโมงค์อายุเก่าแก่ถึง 4 แห่ง ขณะที่ผู้รับเหมาจะทำงานเสร็จเร็วกว่าสัญญา 3 เดือน ส่วนยกบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท.คาดสรุปเร็วๆ นี้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเสนอให้ปิดการเดินรถเส้นทางสายเหนือ 15 วันเพื่อทำการปรับปรุงทางรถไฟ แก้ไขปัญหารถไฟตกรางในเส้นทางสายเหนือนั้น เป็นแนวคิดที่ดี และให้ ร.ฟ.ท.จัดทำแผนการปิดและการปรับปรุงทางให้รอบคอบ โดยเห็นว่าควรปิดการเดินรถในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องเดินทาง โดยปัจจุบันการซ่อมทางจะดำเนินการในขณะที่เปิดให้เดินรถปกติ การซ่อมหนักทำไม่ได้ โดยเฉพาะในอุโมงค์ ซึ่งมีความเสื่อมโทรมมาก ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่และผู้รับเหมาเข้าไปดำเนินการปรับปรุงทางรถไฟได้อย่างเต็มที่ และเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหารถไฟตกรางในจุดเดิมซ้ำซากได้

“ผมว่าถ้าจำเป็นต้องปิดก็ต้องปิด จะได้ซ่อมได้เต็มที่ ไม่เช่นนั้นรถไฟก็จะตกรางอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ให้ ร.ฟ.ท.ไปทำแผนศึกษาการปิดให้ดี เน้นในช่วง Low Season ปัจจุบันการซ่อมทางจะดำเนินการโดยไม่ได้ปิดเส้นทางรถไฟจะวิ่งตลอดเวลา โดยเฉพาะในอุโมงค์ที่ผ่านมายังไม่มีเหตุตกรางในอุโมงค์ ซึ่งหากมีจะวุ่นวายมาก เพราะการขนเครื่องมือเข้าไปทำได้ลำบากมาก หลังจากซ่อมใหญ่แล้วถ้ายังมีตกรางอีกก็ต้องเอาเรื่องกันแล้ว” นายชัชชาติกล่าว

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า คาดว่าอย่างช้าภายในสัปดาห์หน้าจะเสนอแผนปิดการเดินรถในเส้นทางสายเหนือต่อ รมว.คมนาคมได้ โดยจะปิดการเดินรถในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นเวลา 15 วัน ระหว่างสถานีรถไฟศิลาอาสน์ ถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ เนื่องจากในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมยังมีผู้โดยสารจองตั๋วโดยสารเดินทางล่วงหน้าอยู่ โดยหลังปิดการเดินรถจะทำให้เจ้าหน้าที่และผู้รับเหมาสามารถเข้าไปดำเนินการปรับปรุงทางรถไฟ ทั้งเปลี่ยนหมอนรองราง ราง ประแจ เครื่องอาณัติสัญญาณ และก่อสร้างสะพานทางรถไฟ ในส่วนที่เป็นอุโมงค์เนื่องจากทางสายเหนือมีอุปสรรคในการปรับปรุงทางมาก เช่น อุโมงค์เก่าแก่ที่มีอายุ 100 ปี ถึง 4 อุโมงค์ ประกอบด้วย ปางตูบขอบความยาว 120 เมตร เขาพลึงความยาว 362 เมตร ห้วยแม่ลานความยาว 130 เมตร และขุนตาลความยาว 1 กิโลเมตร 350 เมตร ที่อาจจะนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปไม่ได้และเป็นทางลาดชัน

โดยเบื้องต้นผู้รับเหมายืนยันว่าจะสามารถดำเนินการปรับปรุงทางในอุโมงค์ทั้ง 4 แห่งแล้วเสร็จภายใน 15 วัน และจากการปิดการเดินรถ 15 วันจะทำให้ผู้รับเหมาปรับแผนการปรับปรุงทางในเส้นทางสายเหนือแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนถึง 3 เดือน จากแผนต้องดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2557 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 สำหรับผู้รับเหมาที่เข้าไปดำเนินการปรับปรุงทางในเส้นทางสายเหนือคือกิจการร่วมค้าไอทีดี-เอสพีดี ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศักดาพร จำกัด ที่เซ็นสัญญาไปเมื่อต้นปี 2555 ด้วยวงเงิน 2,853 ล้านบาท

ส่วนแนวทางการบริหารบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ นายชัชชาติกล่าวว่า ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยหลักการจะต้องให้เป็นบริษัทแยกออกมาจาก ร.ฟ.ท.คงไม่สามารถให้กลับเป็นหน่วยธุรกิจของ ร.ฟ.ท.เหมือนเดิมได้ โดยก่อนหน้านี้มี 2 แนวคิด 1. จ้างบริษัทฯ ทำหน้าที่เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ โดย ร.ฟ.ท.เป็นผู้จัดเก็บรายได้ แต่พิจารณาแล้วจะมีข้อเสียคือ ต้นทุนการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ซ่อนอยู่ในร.ฟ.ท. ทำให้ไม่รู้ว่าแอร์พอร์ตลิงก์มีกำไรหรือขาดทุน หรือ 2. ให้บริษัทฯ รับผิดชอบรายได้รายจ่ายเก็บค่าโดยสารเองและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสถานีได้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองหรือไม่ โดยจ่ายเงินคืน ร.ฟ.ท.ในรูปแบบค่าเช่าหรือแปลงเป็นหุ้นในบริษัท ส่วนคณะกรรมการ (บอร์ด) จะต้องเป็นคนละชุด คล้ายกับ ปตท.ที่มีบริษัทลูกแต่ต่างกันตรงที่บริษัทลูกของ ปตท.จะเป็นบริษัทที่มีกำไรแน่นอน (Profit Center) อยู่แล้ว แต่แอร์พอร์ตลิงก์ยังมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ยกเว้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาช่วย และอนาคตต้องการให้บริหารรถไฟสายสีแดงด้วย

“ที่ต้องพิจารณาคือ โครงสร้างการถือหุ้นจะเป็นใครอย่างไร ส่วนทรัพย์สินโอนไปไหนก็เป็นของรัฐทั้งนั้น แต่หลักการแอร์พอร์ตลิงก์ไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สิน ควรให้เป็นการถือสิทธิในการใช้ทรัพย์สินจะง่ายกว่า เช่น ให้ ร.ฟ.ท.เป็นบริษัทแม่ เจ้าของทรัพย์สินเท่ากับเป็นตัวแทนรัฐบาล และให้สิทธิแอร์พอร์ตลิงก์ในการบริหาร 10 ปี, 20 ปี”
กำลังโหลดความคิดเห็น