แอร์พอร์ตลิงก์เตรียมสรุปทีโออาร์ซื้อรถใหม่ 7 ขบวน 4.8 พันล้านปลาย ก.พ.นี้ เร่งเสนอ ร.ฟ.ท.เปิดประมูล ยันสเปกเปิดกว้าง เน้นเทคโนโลยีใกล้เคียงของเดิม อะไหล่ทดแทนกันเดิม เผยมีรถเพิ่มจะวิ่งถี่เป็น 8 นาที/ขบวน ชี้ชุมนุมเพิ่มยอดผู้โดยสารพุ่ง 36% เพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกสถานี
นายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์จัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงิน 4,855 ล้านบาท ซึ่งจะกำหนดคุณสมบัติและสเปกทั้งทางเทคนิคและสถาปัตยกรรมของขบวนรถที่ต้องการ โดยเน้นว่ารถใหม่จะต้องมีระบบขับเคลื่อน เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับรถเดิม รวมถึงอะไหล่ที่สามารถใช้ทดแทนกันได้เพื่อประหยัดค่าซ่อมบำรุง ซึ่งเบื้องต้นได้เชิญผู้ผลิต 7-8 ราย เช่น ซีเมนส์ อัลสตอม รวมถึงผู้ผลิตจากสเปน จีน ฯลฯ มารับฟังแนวทางแล้วได้รับการยืนยันว่าสเปกที่ต้องการเปิดกว้างในการประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) ไม่มีการปิดกั้นให้รายใดรายหนึ่งเนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาไปมากแล้ว คาดว่าจะสรุปทีโออาร์ได้ในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะเร่งเสนอการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการประกวดราคาตามขั้นตอนต่อไป
“ครั้งนี้ได้มีการออกแบบรถไว้ก่อน โดยปรับปรุงจากรถ City Line ปัจจุบัน เช่น ตัวถังจะกว้างขึ้น แยกเก้าอี้นั่งเป็นเฉพาะคน เสา ราวจับ สิ่งอำนวยความสะดวกภายในรถ จอแสดงเส้นทางและข้อมูลต่างๆ ระบบเปิดปิดประตูแบบไฟฟ้า (จากเดิมใช้ระบบลมซึ่งมีเสียงดัง) เป็นต้น ซึ่งหลังประมูลเสร็จจะใช้เวลาในการผลิตประมาณ 12-18 เดือน ขึ้นกับการเสนอของผู้ผลิตที่ชนะการประมูล โดยจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในการกู้เงินด้วย โดยหากมีรถ City Line ใหม่ 7 ขบวนเข้ามา จะเพิ่มขีดวามสามารถในการเดินรถจากปัจจุบัน 12-15 นาทีต่อขบวนเป็น 8 นาทีต่อขบวน” นายพีรกันต์กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์มีรถให้บริการได้รวม 8 ขบวนจากทั้งหมด 9 ขบวน (City Line 5 ขบวน Express Line 4 ขบวน ชำรุดไป 1 ขบวนอยู่ระหว่างรออะไหล่) แต่ในภาพรวมไม่กระทบการให้บริการ ซึ่งปี 2557 ได้ตั้งงบประมาณจัดซื้ออะไหล่และซ่อมบำรุงไว้ 500 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับทำการซ่อมใหญ่ (Overhaul) อีก 200 ล้านบาท จึงค่อนข้างมั่นใจถึงศักยภาพในการเดินรถสามารถรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 7.2 หมื่นคนต่อวัน
โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม นายพีรกันต์ได้ตรวจการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ตั้งแต่สถานีพญาไทถึงสถานีลาดกระบังเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เดินทาง ซึ่งขณะนี้ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำทั้ง 8 สถานีพร้อมได้กำชับให้พนักงานประจำสถานี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษ สำหรับรองรับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีผู้โดยสารเลี่ยงเส้นทางรถติด ทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต้วันที่ 1-16 มกราคมมีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 754,104 คน (City Line 731,692 คน Express Line 22,412 คน) โดยมียอดเฉลี่ยผู้โดยสารใช้บริการสูงขึ้น 36% จากยอดเฉลี่ยปกติที่ประมาณ 40,000-50,000 คนต่อวัน โดยวันที่ 13 มกราคมมีผู้ใช้บริการถึง 69,701 คน วันที่ 14 มกราคม จำนวน 54,050 คน วันที่ 15 มกราคม จำนวน 53,962 คน วันที่ 16 มกราคม จำนวน 52,711 คน
สำหรับการอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวอื่นๆ ในทุกสถานีของแอร์พอร์ตลิงก์นั้น ได้จัดตำรวจรถไฟประจำการ และตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีอัตรากำลังทั้งหมด 32 อัตรากำลัง และตำรวจรถไฟ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวภายในสถานีสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดใต้สถานีเน้นการตรวจสอบช่วงเวลากลางคืน จำนวน 600 ตัว และจะติดตั้งเพิ่มอีก 300 ตัว คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ทางกรมทางหลวงได้ปรับปรุงพื้นที่จอดรถให้สถานีลาดกระบัง ทำให้สามารถรองรับรถได้เป็น 600 คัน และจะปรับปรุงเพิ่มให้อีกซึ่งจะรับรถได้เพิ่มอีก 200 คันรวมเป็น 800 คัน มีผู้ใช้บริการเต็มซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่ รปภ.ตรวจตราตลอดเวลา