เผย ป.ป.ช.แนะปรับ TOR ซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คันใหม่ ติงกำหนดเงื่อนไขสุดเอื้อเอกชนเปิดให้จัดฮั้วง่าย เหตุประมูลพร้อมกัน 8 สัญญาขณะที่มีผู้ยื่นประมูลได้น้อย แนะทยอยประมูลทีละสัญญา แถมกำหนดค่าซ่อมซ้ำซ้อนทั้งที่ 3 ปีแรกต้องมีรับประกันอยู่แล้ว จับตา ขสมก.หวั่นทำไม่รู้ไม่ชี้ เก็บเงียบความเห็น ป.ป.ช. ด้าน กก.ร่าง TOR นัดประชุม 9 ก.ย.พิจารณาข้อเสนอแนะก่อนตัดสินปรับหรือไม่
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ป.ป.ช.ติดตามร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาทขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการร่าง TOR รถเมล์ NGV เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม เพื่อปรับปรุงรายละเอียดของร่าง TOR ในหลายประเด็นที่เข้าข่ายไม่โปร่งใสและล็อกสเปก ซึ่งเบื้องต้นทาง ขสมก.ไม่ได้นำความเห็นของ ป.ป.ช.ลงในเว็บบอร์ด ดังนั้นจึงต้องรอดูว่าหลังจากปิดรับฟังความเห็นร่างทีโออาร์ครั้งที่ 2 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว จะมีการนำข้อท้วงติงของ ป.ป.ช.ไปปรับแก้หรือไม่
โดย ป.ป.ช.ท้วงติงหลายประเด็น เช่น 1. ไม่ควรประมูลพร้อมกันทั้ง 8 สัญญา เพราะเมื่อเกิดความต้องการปริมาณรถจำนวนมากพร้อมกัน ในขณะที่ผู้ยื่นข้อเสนอมีน้อยราย จะทำให้ฮั้วกันได้ง่าย เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน โดยควรเปิดให้ประมูลครั้งละ 1 สัญญา และมีระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อทำให้ฮั้วกันได้ยากขึ้น 2. TOR ระบุให้ผู้ประมูลต้องรับประกันการชำรุดบกพร่องของการใช้งานตามปกติของรถโดยสารทั้งคันไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ปรากฏว่ากลับมีการกำหนดค่าซ่อมบำรุงอีกประมาณ 300,000 บาทต่อปีต่อคัน ซึ่งมีข้อสังเกตว่าซื้อรถใหม่ผู้ผลิตจะต้องรับประกันซ่อมบำรุงอยู่แล้ว ขสมก.จะรับผิดชอบเพียงค่าใช้จ่ายวัสดุสิ้นเปลือง เช่น น้ำมันเครื่อง ค่าแรง เท่านั้น
นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเกณฑ์ให้คะแนนเพื่อประเมินผู้ที่เสนอเงื่อนไขดีที่สุดให้ได้อีกด้วย TOR ที่กำหนดทำให้ ขสมก.มีค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่เหมาะสม ที่สำคัญมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดซื้อรถ 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท ไม่ได้อนุมัติค่าเหมาซ่อม
3. ขสมก.กำหนดราคากลางโดยสอบถามจากบริษัทผู้ผลิตรถไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างที่กำหนดให้สอบถามจากกรมบัญชีกลาง 4. ควรกำหนดขนาดรถมากกว่า 1 แบบ เช่น ขนาด 10 เมตร และ 12 เมตร ไม่ควรกำหนดขนาด 12 เมตรเหมือนกันทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อมีรถให้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม เช่น ช่วงที่มีผู้โดยสารน้อยใช้รถ 10 เมตรวิ่งจะสิ้นเปลืองก๊าซน้อยกว่ารถขนาดใหญ่และทำให้ประหยัดค่าจัดซื้อลงอีก โดยรถ 10 เมตรราคาจะถูกกว่ารถ 12 เมตรอีก 2-3 แสนบาทต่อคัน
ด้านนายนเรศ บุญเปี่ยม รองผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่าง TOR โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน กล่าวว่า จากการเปิดรับฟังความเห็นร่างทีโออาร์ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 20-28 สิงหาคม ปรากฏว่ามีผู้แสดงความเห็นจำนวน 24 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการเสนอแนะจากสมาคมคนพิการฯ ที่ต้องการให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการอย่างเพียงพอ ให้ผู้พิการสามารถใช้บริการรถเมล์ ขสมก.ได้ทั้งรถปรับอากาศและรถธรรมดา จากที่กำหนดให้มีทางลาดใช้วีลแชร์เฉพาะรถปรับอากาศเท่านั้น นอกจากนี้ยังขอให้ลดเงื่อนไขค่าปรับในกรณีที่ไม่สามารถนำรถมาวิ่งให้บริการกำหนดไว้สูงเกินไปโดยรถปรับอากาศกำหนดค่าปรับวันละ 10,000 บาทต่อคัน และรถธรรมดาวันละ 8,000 บาทต่อคัน และขอให้ปรับข้อกำหนดขนาดตัวรถเป็นขนาด 8-12 เมตร แทนการกำหนดรถขนาด 12 เมตรอย่างเดียว และต้องการให้เปิดกว้างเรื่องผลงานการซ่อมรถโดยสารในต่างประเทศ เพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ว่าต้องมีผลงานการซ่อมรถโดยสารภายในประเทศเท่านั้น เป็นต้น
โดยคณะกรรมการร่าง TOR ได้เลื่อนประชุมเพื่อพิจารณาปรับแก้ TOR หลังจากที่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 2 กันยายนไปเป็นวันที่ 9 กันยายน ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้เจ้าหน้าที่จัดทำรายละเอียดข้อเสนอแนะต่างๆ ให้ละเอียดครบถ้วนและเป็นระบบกว่านี้ และเพื่อให้คณะกรรมการร่าง TOR ได้พิจารณาอย่างรวดเร็ว โดยหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จจะนำร่าง TOR ประกาศขึ้นเว็บไซต์อีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ เพราะต้องดูว่าจะมีข้อเสนอแนะใดๆ เข้ามาอีกหรือไม่ โดยต้องให้แน่ใจว่าร่าง TOR ได้เปิดกว้างให้มีการแสดงความเห็นเข้ามาอย่างเต็มที่แล้ว จึงจะประกาศประกวดราคาได้