ขสมก.เลื่อนประกาศ TOR ประมูลรถเมล์ NGV ลงเว็บรอบ 2 หลังถูก ป.ป.ช. และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ตั้งข้อสังเกตความโปร่งใส ด้าน “พฤณท์” ยันความเห็นที่ดีเป็นประโยชน์ต้องรับมาปรับปรุง สั่งเพิ่มเงื่อนไขปิดช่องยัดไส้ใช้แชสซีดัดแปลง ยันต้องเป็นแชสซีรถโดยสารที่ ขบ.รับรองเท่านั้น ด้าน ครม.รับทราบผลศึกษาซื้อรถธรรมดา 1,659 คันเพื่อบริการผู้มีรายได้น้อย และช่วงน้ำท่วม
พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท ค่าซ่อมบำรุง 10 ปี วงเงิน 13,858.408 ล้านบาท มูลค่ารวม 27,020.608 ล้านบาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์ หรือ e-Auction แจ้งว่าจะนำร่าง TOR เพื่อรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และเว็บไซต์กรมบัญชีกลางครั้งที่ 2 ในวันที่ 20-28 สิงหาคม ล่าช้ากว่าเดิมที่กำหนดลงเว็บตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม เนื่องจากมีความเห็นเพิ่มเติมจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ทำให้คณะกรรมการร่าง TOR ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ความเห็นซึ่งเป็นข้อกังวลเรื่องการนำแชสซีรถบรรทุกมาดัดแปลงเป็นรถโดยสารเพื่อเข้าประมูลโครงการรถเมล์ NGV นั้น ได้รับการยืนยันว่า TOR กำหนดว่าแชสซีจะต้องได้มาตรฐานกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งได้กำชับให้เพิ่มเติมเพื่อไม่ให้มีการเปิดช่องให้ใช้แชสซีดัดแปลง โดยข้อ 2.3 กำหนดวัสดุที่จะใช้เป็นโครงสร้างแชสซีต้องแข็งแรงและออกแบบให้เป็นรถโดยสารตามมาตรฐานกรมการขนส่งทางบก โดยต้องได้รับความเห็นชอบและอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้ (21 ส.ค.) ป.ป.ช.จะมีการประชุมคณะอนุฯ ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบ TOR รถเมล์ NGV ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้เคยตั้งข้อสังเกตในเรื่องความโปร่งใสและกังวลร่าง TOR ในบางประเด็น เช่น การกำหนดคุณสมบัติที่ทำให้มีผู้เข้าประกวดราคาได้น้อยราย และคุณสมบัติของสินค้าที่จัดซื้อเมื่อได้กำหนดรายละเอียดไว้น้อยก็อาจจะมีการพิจารณานาน
ด้านนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 3,183 คัน โดย ขสมก.รายงานว่า ตามแผนจะจัดซื้อรถโดยสารธรรมดา จำนวน 1,659 คัน และรถโดยสารปรับอากาศจำนวน 1,524 คัน เนื่องจากรถโดยสารธรรมดายังมีความจำเป็นสำหรับผู้ใช้บริการที่มีรายได้น้อย นักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ และยังต้องใช้เดินรถตามนโยบายรัฐ เช่น รถเมล์ฟรี การใช้เดินรถช่วงเกิดภาวะน้ำท่วม ซึ่งรถโดยสารธรรมดาเหมาะสมกว่า และหากเปลี่ยนไปเป็นรถปรับอากาศทั้งหมดจะได้ถูกรถเอกชนร่วมบริการร้องเรียนว่าแย่งผู้โดยสารด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ขสมก.ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจัดซื้อรถโดยสาร เพราะตามมติ ครม.เดิมที่อนุมัติไว้เหมาะสมแล้ว