xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” เบรกรถร่วมฯ ขึ้นราคา สั่ง ขสมก.หาทางแก้ปัญหาใน 15 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ยันไม่มีนโยบายขึ้นราคารถร่วมฯ ขสมก. ให้เวลา ขสมก. 15 วันหาข้อสรุปแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้านรถร่วมฯ เผยนโยบายรัฐทำรายได้วูบ ทั้งรถเมล์ฟรี ค่าแรง 300 บาท ยันทางออกขอขึ้นราคารถร้อนอีก 2 บาท งดจ่ายหนี้ค่าขากว่า 300 ล้านบาท และขอเพิ่มวงเงินส่วนลด NGV แบบไม่จำกัด ยันพร้อมให้รัฐซื้อคืนหรือจัดรถร่วมฯ เข้าระบบโดยรัฐจ้างเดินรถ

พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือรถเอกชนร่วมบริการ (รถหมวด 1) รวมทั้งผลกระทบจากกรณีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดหารถใหม่เข้ามาเดินรถเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมว่า ผู้ประกอบการได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อหลัก คือ ให้ ขสมก.งดจัดเก็บค่าตอบแทนตามสัญญา (ค่าขา) ซึ่งปัจจุบันรถธรรมดาเก็บ 35 บาทต่อคันต่อวัน รถปรับอากาศ 60 บาทต่อคันต่อวัน, ขอให้ยกเลิกหนี้ค้างชำระค่าขาช่วง 1 มีนาคม 2548-30 มิถุนายน 2550 วงเงินรวม 363 ล้านบาท (รวมภาษีและดอกเบี้ยค่าปรับ) เนื่องจากอัตราค่าโดยสารไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และขอให้แก้ไขปัญหารถผิดกฎหมายวิ่งทับเส้นทางทำให้สูญเสียรายได้ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ ขสมก.รวบรวมข้อมูลรายละเอียดผลประกอบการของรถร่วมฯ ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร พร้อมกับพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสรุปให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.พิจารณาก่อนว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างไรบ้าง โดยให้ได้ความชัดเจนภายใน 15 วัน จากนั้นจะหารือร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนอีกครั้ง

“ผู้ประกอบการระบุว่า ได้รับผลกระทบจากมาตรการรถเมล์ฟรี ส่วนการช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซ NGV เหลือ 8.50 บาทต่อ กก.จำกัดวงเงิน 30,000 บาทต่อคันต่อเดือนไม่เพียงพออยากจะขอแบบไม่จำกัดวงเงิน ในภาพรวมเห็นใจผู้ประกอบการแต่คงให้ขึ้นค่าโดยสารตามที่ขอไม่ได้ และยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีนโยบายเรื่องนี้ ขอเวลา 15 วัน เชื่อว่าน่าจะมีทางออก” พล.อ.พฤณท์กล่าว

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้ยื่นขอให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วยหาแนวทางแก้ปัญหามานานแล้วเพราะได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายของรัฐบาล ทั้งเรื่องรถเมล์ฟรี 800 คัน ค่าแรง 300 บาท รวมถึงรถคันแรกที่ทำให้รถติดมากขึ้นทำให้เที่ยววิ่งแต่ละคันลดลง ประชาชนเดือดร้อนเพราะรอรถนาน โดยปัจจุบันรายได้ต่อวันต่อคัน รถร้อนอยู่ที่ 3,200 บาทแต่มีต้นทุนถึง 5,000 บาท ส่วนรถปรับอากาศมีรายได้ 4,000-5,000 บาทแต่มีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท แต่ที่ยังพออยู่ได้ก็เพราะบางคันอาจจะมีกำไรบ้างก็นำมาเฉลี่ยกัน ส่วนค่าแรง 300 บาททำให้ขาดแรงงาน รถวิ่งได้เพียง 60% เพราะไม่มีคนขับ กรณีส่วนลดค่าก๊าซ NGV เหลือ 8.50 บาทต่อ กก.จำกัดคันละ 30,000 บาทต่อเดือนนั้นไม่เพียงพอ เพราะใช้จริงเดือนละ 50,000 บาท ส่วนที่เกินก็ต้องเติมในราคา 10.50 บาทต่อ กก.

ดังนั้นจึงต้องขอให้รัฐช่วยเหลือ โดยขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถธรรมดาจาก 8 บาทเป็น 10 บาทตลอดสาย รถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 2 บาท (11-22 บาทเป็น 13-24 บาท) และขอให้ยกเลิกมาตรการรถเมล์ฟรี หากไม่ได้ขอให้รับรถของเอกชนเข้าร่วมโครงการโดยรัฐชดเชยรายได้ให้เอกชน รถธรรมดาวันละ 6,000 บาทต่อคัน รถปรับอากาศวันละ 7,500 บาทต่อคัน ซึ่งต่ำกว่ารถ ขสมก.ที่ได้รับชดเชยวันละ 8,500-9,200 บาทต่อคัน และยกเลิกหนี้ค่าขา ที่สำคัญต้องการให้นโยบายที่ชัดเจนเรื่องการจัดระบบรถเมล์หลังจาก ขสมก.จัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คันเข้ามา

“ถ้านโยบายรัฐชัดเจน หาทางช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ก็ไม่ต้องขึ้นค่าโดยสาร ที่ผ่านมาเอกชนซื้อรถใหม่คันละ 4 ล้านบาท บางรายปรับเครื่องยนต์เป็น NGV คันละกว่า 1 ล้านบาท มีรถใหม่มาให้บริการก่อน ขสมก.โดยต้องลงทุนเพิ่มแต่รายได้ไม่เพิ่มทำให้ขาดทุน ซึ่งเอกชนไม่อยากขึ้นราคาเพราะผู้โดยสารก็จะไม่ใช้บริการจึงอยากให้รัฐแก้ปัญหาทั้งระบบ เช่น จัดรถเอกชนเข้าระบบเดินรถร่วมกับรถเมล์ใหม่ที่จะเข้ามาเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือรัฐซื้อคืนไป โดยจะรออีก 15 วันเชื่อว่า รมว.คมนาคมจะหาทางแก้ปัญหาได้” นางภัทรวดีกล่าว

นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า ปัจจุบัน ขสมก.มีรายได้จากค่าขาของรถร่วมฯ ประมาณ 5 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนการยกเว้นไม่เก็บเลยทำไม่ได้เพราะจะผิดสัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น