สนข.เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ขอใช้งบกลางปี 57 เริ่มต้นโครงการระบบราง หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านขัดกฎหมาย ชี้มีความสำคัญต่อการพัฒมนาประเทศ แต่เกิดยากจึงต้องพยายามเริ่มต้น พร้อมเปิดเวทีประชันไอเดียออกแบบภายใน 3 สถานีไฮสปีดสายเหนือ ดึงประชาชนมีส่วนร่วม
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลโครงการระบบรางที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่ขอใช้งบประมาณกลางปี 2557 ในการดำเนินงาน หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดกฎหมาย เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า โดยจะต้องพยายามให้โครงการได้เริ่มต้นก่อน ส่วนที่เหลือค่อยๆ จัดสรรงบประมาณเพื่อต่อยอด แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ด้วย และจะใช้เวลาดำเนินการมากกว่า 7 ปี
ทั้งนี้ ระบบรางที่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพื่อรองรับความต้องการ มีทั้งโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ซี่งเป็นโครงการที่จะช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยใกล้จะสรุปผลการศึกษาออกแบบแล้วทั้ง 3 เส้นทาง โดยรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะสรุปการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ปลายเดือนมีนาคม 2557 สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และสายกรุงเทพฯ-หัวหิน จะสรุปผลศึกษา EIA ในเดือนเมษายน
“หลักการคือ ต้องพยายามเริ่มต้นโครงการให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้เริ่มต้นซะที โดยเฉพาะโครงการที่เกิดยาก เพราะถ้าเริ่มต้นได้ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ต้องมาสานต่อ สนข.พร้อมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ขอใช้งบกลางปีเริ่มต้นโครงการที่สำคัญ แต่หากมีรัฐบาลใหม่ช้าหรือเริ่มทำงานหลังเดือนพฤษภาคมก็คงขอใช้งบกลางปีไม่ทันเพราะจะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนจะหมดปีงบประมาณ 57 แล้ว ก็เท่ากับปีนี้ทำอะไรไม่ได้” นายจุฬากล่าว
สำหรับแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในระบบขนส่งของประเทศปี 2557 มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 103,082 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในระบบรางวงเงิน 54,594.96 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท เช่น โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟ (ปรับปรุงทาง, ราง, หมอน, สะพาน, ติดตั้งรั้ว), รถไฟทางคู่เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ, เส้นทางมาบกะเบา-ถนนจิระ, เส้นทางนครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบฯ, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น รวมถึงรถไฟสายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซ่อน-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง), สายสีแดงเข้ม (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท), รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา)
โครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงินรวม 35,031.19 ล้านบาท เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค), สายสีเขียวอ่อน(แบริ่ง-สมุทรราการ), สายสีเขียวเข้ม( หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต), สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี), สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี), สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ)
อย่างไรก็ตาม สนข.ได้จัดประกวดแนวคิดการออกแบบภายในสถานีรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ “อัตลักษณ์สร้างคุณค่า” (Identity Creates Value) จำนวน 3 สถานี ได้แก่ พิษณุโลก ลำปาง และเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศ รวมมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้น 510,000 บาท