xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ประเมินลงทุนรถไฟความเร็วสูง ชง รบ.ใหม่เลือกแค่บางสายที่คุ้มค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนข.เตรียมข้อมูลผลศึกษารถไฟความเร็วสูง 3 สาย พร้อมเสนอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจใน 2 แนวทาง คือ เลือกลงทุนตลอดเส้นทางเพียง 1 สาย หรือลงทุนเฟสแรกทั้งสาย กทม.-พิษณุโลก และ กทม.-โคราช ชี้เพื่อให้คุ้มค่ากับเม็ดเงินกว่า 4 แสนล้าน ยันไทยต้องมีรถไฟความเร็วสูง ยิ่งช้า ยิ่งแพง  

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.กำลังประเมินการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง วงเงินลงทุน 783,229 ล้านบาท เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ประเด็นแรกคือจะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ หากเห็นด้วย สนข.จะเสนอ 2 แนวทาง คือ 1. ลงทุนสายใดสายหนึ่งทั้งโครงการ โดยเลือกระหว่างสายเหนือ (กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่) หรือสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) 2. ลงทุนเฉพาะเฟสแรกของทั้งสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการศีกษาผลตอบแทนการลงทุน (EIRR) ประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศในภาพรวมสูงสุด ประกอบการพิจารณา ยืนยันว่าประเทศไทยควรมีรถไฟความเร็วสูงและควรเริ่มต้นโครงการได้แล้ว หากยิ่งล่าช้าออกไปยิ่งทำให้มูลค่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10% จากค่าเวนคืน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงาน ที่ปรับขึ้นทุกปี 

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า EIRR ของสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ดีที่สุดประมาณ 12.5% เหมาะต่อการลงทุน โดยค่าเฉลี่ย EIRR การลงทุนรถไฟความเร็วสูงไม่ควรต่ำกว่า 12% แต่ช่วงจากพิษณุโลก-เชียงใหม่ EIRR ลดลงเนื่องจากค่าลงทุนสูง เพราะแนวเส้นทางผ่านภูเขาต้องมีอุโมงค์ จึงจะลงทุนเป็นเฟส 2 ส่วนกรุงเทพฯ-นครราชสีมา EIRR เกือบ 12% หากลงทุนถึงหนองคาย EIRR จะเป็น 13% จึงเหมาะต่อการลงทุนทั้งสาย ส่วนสายใต้ เฟสแรกกรุงเทพฯ-หัวหิน EIRR 8.11% เท่านั้น หากต่อไปถึงสุราษฎร์ธานี EIRR จะเพิ่มเป็น 12.5% แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนอีกเท่าตัว ดังนั้น สายใต้ถ้าจะทำแค่หัวหินไม่ทำดีกว่าหรืออาจรอไปก่อน หรือหากจะทำก็ควรต่อให้ถึงสุราษฎร์ธานี

“ตอนนี้ สนข.จะสรุปผลศึกษาของรถไฟความเร็วสูงทั้ง 3 สายที่ดูแล รอเสนอรัฐบาลใหม่ ถ้าจะทำก็มีแนวทางแบบนี้ โดยยึดหลักการลงทุนที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุดภายใต้วงเงินประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งที่น่าจะดีที่สุดคือ ลงทุนเฟสแรกของสายเหนือกับสายอีสาน เพราะจะเป็นการกระจายความเจริญและพัฒนาเมืองได้หลายจังหวัด เป็นการมองในมุมของการลงทุน ไม่เกี่ยวว่าจะมี พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทหรือไม่ เพราะถึงมี พ.ร.บ. 2 ล้านล้านก็ต้องพิจาณาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดเช่นกันประเทศไทยจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูง ยิ่งตัดสินใจลงทุนช้าจะยิ่งสูญเสียโอกาส และค่าลงทุนเพิ่ม” นายจุฬากล่าว

ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะเสนอให้รัฐรับภาระลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสัดส่วนประมาณ 70% โดยใช้เงินกู้รูปแบบเดียวกับเงินกู้ก่อสร้างรถไฟฟ้าที่กระทรวงการคลังจัดหาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีกรมทางหลวง หรือกรมการขนส่งทางรางรับผิดชอบงานก่อสร้าง ส่วนการใช้คืนเงินกู้ สามารตั้งเป็นงบประมาณประจำปีผ่านกรมทางหลวงได้ ส่วนระบบและการเดินรถอีก 30% นั้นจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเดินรถ ค่าซ่อมบำรุงไปด้วย โดยแยกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้รัฐไม่ต้องอุดหนุนเพิ่มเติมอีก รัฐอาจใช้คืนค่าก่อสร้างใน 4-5 ปีขึ้นกับงบประมาณที่จัดสรรได้ จากเดิมที่ลงทุนหมดจะคืนทุนในปีที่ 22-23 

สำหรับความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง 3 สาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะยื่นผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในเดือนมกราคมนี้, สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะยื่นได้ในเดือนกุมภาพันธ์ และสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ศึกษาจบในเดือนมีนาคม ซึ่งจะนำเสนอเป็นภาพรวมผลการศึกษา และ EIA พร้อมกันทั้ง 3 สายเป็นภาพรวม เพราะจะทำให้มีข้อมูลสำหรับการพิจารณาดีกว่าการเสนอเป็นรายโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น