xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ชี้ยุบสภาไม่กระทบการออกแบบรถไฟความเร็วสูง ผลศึกษา กทม.-หัวหินปรับตำแหน่ง 3 สถานีเปิดพื้นที่ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนข.เดินหน้าศึกษาออกแบบรถไฟความเร็วสูง ชี้ยุบสภาไม่กระทบเพราะมีงบและทำสัญญาจ้างไปแล้วคนละส่วนกับก่อสร้างที่ต้องรอลุ้นนโยบาย รบ.ใหม่หนุนต่อหรือไม่ เตรียมสรุปแบบ กทม.-หัวหิน ปรับตำแหน่ง 3 สถานีเปิดพื้นที่ใหม่ลดเวนคืน ยอมรับส่วนต่อหัวหิน-ปาดังฯ ลุ้น พ.ร.บ. 2 ล้านล้านไม่ผ่านต้องโยกมาขอใช้งบปี 58 แทน

นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า การศึกษาออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงจะดำเนินไปตามแผนจนแล้วเสร็จแม้ว่ารัฐบาลจะยุบสภาไปแล้วก็ตามเนื่องจากมีงบประมาณและสัญญาจ้างศึกษาชัดเจนแล้วแต่ยอมรับว่าในส่วนของการก่อสร้างนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ต้องขึ้นกับรัฐบาลใหม่ว่ามีนโยบายผลักดันหรือไม่ เนื่องจากค่าก่อสร้างบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา สนข.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (การประชุมสรุปผลโครงการ) โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อได้นำเสนอผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แนวเส้นทาง ตลอดจนรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้งสถานี พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากประชาชนทุกภาคส่วน โดยที่ปรึกษาจะสรุปผลศึกษาในเดือนมีนาคม 2557 ในขณะเดียวกันได้ยื่นผลการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เบื้องต้นไปแล้ว และจะเร่งยื่นเพิ่มในส่วนที่มีการปรับเปลี่ยน เช่น ตำแหน่งสถานี เป็นต้น ซึ่งจะพร้อมเสนอขออนุมัติได้เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่

นายวิจิตต์กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการปรับตำแหน่งสถานี 3 แห่งไปอยู่ในพื้นที่ใหม่โดยไม่ใช้สถานีรถไฟเดิม คือ สถานีราชบุรีไปอยู่ที่ตำบลคูบัว ห่างจากตัวเมืองราชบุรี 3 กม. สถานีเพชรบุรี ปรับไปอยู่ใกล้แนวถนนเพชรเกษม 1 กม. และสถานีหัวหิน ปรับไปที่บ่อฝ้าย ห่างจากสถานีหัวหินเดิม 7 กม. เนื่องจากตัวสถานีรถไฟความเร็วสูงต้องการพื้นที่ประมาณ 40-50 ไร่ ซึ่งสถานีเดิมคับแคบและมีชุมชนหนาแน่นมาแล้วจึงต้องการเปิดพื้นที่ใหม่ ส่วนอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย กทม.-หัวหิน ระยะทาง 209 กม. อยู่ที่ 550 บาท (ค่าแรกเข้า 80-100 บาท และคิดตามระยะทาง 2 บาท/กม.) ซึ่งยังไม่สรุปชัดเจน เนื่องจากมีอัตราชั้นธรรมดาและอัตราชั้นพิเศษ

“การลงทุนรถไฟความเร็วสูงจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีร่วมด้วยเพื่อนำรายได้มาอุดหนุน ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมและผังเมืองได้ตั้งกรรมการร่วม 2 ฝ่ายเพื่อกำหนดรายละเอียดการพัฒนาสถานีแต่ละแห่ง ซึ่งจะมีพื้นที่พัฒนารัศมีเฉลี่ยประมาณ 9 ตร.กม. จะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละสถานี โดยผังเมืองจะร่วมมือกับท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ในการกำหนดรูปแบบและร่วมกันจัดรูปที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กทม.-หัวหิน มีมูลค่าการลงทุนรวม 98,399 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 83,070 ล้านบาท เวนคืนที่ดิน 900 ไร่ รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง 4,310 หลัง วงเงินค่าเวนคืนที่ดิน 4,100 ล้านบาท มีจุดตัดตลอดเส้นทางจำนวน 51 แห่ง โดยเป็นจุดตัดที่ใช้ร่วมกับรถไฟทางคู่ 30 แห่ง กรมทางหลวง 3 แห่ง กรมทางหลวงชนบท 6 แห่ง และโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ออกแบบใหม่ 12 แห่งเป็นสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 4 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 8 แห่ง

ส่วนเส้นทางต่อขยายหัวหิน-ปาดังเบซาร์นั้นได้กำหนดให้ใช้เงินใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทสำหรับจ้างศึกษาออกแบบจำนวน 745 ล้านบาท ซึ่งหาก พ.ร.บ.ไม่ผ่านจะปรับมาใช้งบประมาณประจำปี 2558 แทนซึ่งเหลือเป็นส่วนสุดท้ายที่ยังไม่จ้างที่ปรึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น