ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ประธานสภาอุตสาหกรรมขอนแก่น เผยรถไฟความเร็วสูง 2.2 ล้านล้านบาท ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมภาคอีสาน ชี้ผลศึกษา สนข.ทำถึงแค่นครราชสีมา ขณะที่การเดินทางด้วยรถยนต์กับรถไฟถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาไม่ต่างกัน ระบุรถไฟความเร็วสูงในเอเชียมีแค่ 3 ประเทศที่รัฐสามารถอุดหนุนได้ จวกสร้างภาระหนี้ระยะยาว ไม่ศึกษารอบด้าน แนะยกระบบรถไฟรางคู่ รถไฟสายใหม่บ้านไผ่-นครพนม เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันกว่า
วันนี้ (9 ต.ค.) นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศ จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท โดยนำมาพัฒนาระบบรางกว่า 1.6 ล้านล้านบาทนั้น จะมีการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสานด้วย ซึ่งจากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่าตามงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น รถไฟความเร็วสูงเข้ามาในภาคอีสานแค่ จ.นครราชสีมา
ส่วนการพัฒนาเส้นทางให้มาถึง จ.ขอนแก่น หรือ จ.หนองคาย ยังไม่มีงบประมาณ และยังไม่มีบริษัทใดกล้าลงทุน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะสามารถกู้เงินมาลงทุนได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยว จ.ขอนแก่น หรือจังหวัดใกล้เคียงมากนัก
ที่สำคัญตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงมีราคาสูงมาก ซึ่งการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ มา จ.นครราชสีมา ด้วยรถไฟความเร็วสูงนั้น ต้องยอมรับว่ามีขั้นตอนมากพอสมควร ไม่ต่างจากการโดยสารด้วยเครื่องบิน เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์โดยสาร หรือรถยนต์ส่วนตัว เชื่อว่าจะใช้เวลาถึงจุดหมายปลายทางไม่ต่างกันนัก และเชื่อว่าคนที่มีกำลังซื้อตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงก็มีไม่กี่กลุ่ม หรือมีจำนวนค่อนข้างน้อย
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตามหลักการของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง จะมีเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นรัฐสวัสดิการให้แก่ประชากรในประเทศ ประเทศเหล่านี้จะนำเงินภาษีมาอุดหนุน ยอมขาดทุนไปกับการทุ่มเงินลงทุนทำรถไฟความเร็วสูง โดยในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ส่วนโซนอื่น คือ สหภาพยุโรป ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถอุดหนุนเงินภาษีแก่รถไฟความเร็วสูงได้
ขณะที่ประเทศไทย มีเงินคงคลังไม่มากพอ ทั้งต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุน ประเทศจะแบกภาระขาดทุนได้หรือไม่ และปัญหาสำคัญคือ ต้องใช้หนี้เงินกู้ก้อนใหญ่ในระยะยาว ซึ่งบทเรียนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่สำคัญ คือ ประเทศเวียดนาม ที่ประกาศว่าจะพัฒนารถไฟความเร็วสูงเป็นประเทศแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์ และท้วงติงรัฐบาล สุดท้ายเวียดนามก็ต้องล้มเลิกโครงการไป
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การสร้างรถไฟความเร็วสูงจะไม่เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ และสังคมต่อภาคอีสานมากนัก อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้ยังขาดการศึกษาที่รอบด้าน ไม่เข้าใจว่าจะเร่งรัดผลักดันโครงการไปเพื่ออะไร เพราะการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ต้องเวนคืนที่ดินตามเส้นทางรถไฟผ่านอีกมาก เนื่องจากแนวเส้นทางรถไฟต้องเป็นเส้นตรงให้รถไฟทำความเร็วได้ ขณะที่สภาพเศรษฐกิจประเทศ ณ ปัจจุบัน ไม่เอื้อที่รัฐจะมาอุดหนุน และสร้างภาระหนี้ให้แก่ประเทศในระยะยาว
“โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าภายใต้โครงการเงินกู้ปรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น ควรสนับสนุนแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ น่าจะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจประเทศไทยมากกว่า เพราะใช้เงินลงทุนต่ำกว่ามาก อีกทั้งผลการศึกษาของ สนข.พบว่า เส้นทางรถไฟรางคู่จะเกิดประโยชน์ต่อการขนส่งมวลชน และการขนถ่ายสินค้า มากกว่าระบบรถไฟรางเดี่ยวถึง 5 เท่าตัว”
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาระบบรางคู่เส้นทางภาคอีสานนั้น เพียงแค่พัฒนาระบบรางคู่จากชุมทาง อ.จิระ จ.นครราชสีมา มา จ.ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ส่วนอีกเส้นทาง คือ จากชุมทาง อ.จิระ ไป จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมกับภาคอีสานมากที่สุด
และที่สำคัญมีโครงการศึกษาเส้นทางรถไฟสายใหม่ จาก อ.บ้านไผ่ ผ่านมาที่ จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนม น่าจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจพื้นที่ภาคอีสานมากกว่า เพราะจะเปิดพื้นที่ภาคอีสานเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลควรดำเนินการเส้นทางรถไฟเส้นใหม่นี้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคมภาคอีสาน