ระยอง - ชาวระยองไม่ให้ความสำคัญ กับโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง หลังจากบริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนโดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังน้อยมาก
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองระยอง นายกนก เข็มนาค ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการระบบรถไฟฟ้าจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา ไปถึงระยอง (โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง) ระยะทางประมาณ 220 กม. บรรยาสรุปให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมบางตา
นายกนก เข็มนาค กล่าวชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ระยอง เป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษา ซึ่งเป็น 1 ในโครงการงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ที่จะต้องมีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ วันนี้เป็นการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 เป็นการเข้ามาพบปะหารือกับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล เพื่อให้ทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการปฐมนิเทศโครงการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ พัทยา ในอนาคตโดยมีเป้าหมายที่จะต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปจนถึง จันทบุรี และตราด แต่ในเฟสแรกจบโครงการที่ จ.ระยอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องขยายต่อไปจนถึงจันทบุรี และตราดในเฟสแรกนี้หรือไม่
นายกนก เข็มนาค ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทีมงานได้ลงพื้นที่พบผู้นำชุมชนหลักๆ ตามแนวเส้นทางทั้งหมด ตั้งแต่ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา บ้านฉาง และระยอง โดยหลักเส้นทางรถไฟสายนี้จะไปตามแนวเขตทางรถไฟที่มีอยู่เดิมของการรถไฟฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเส้นทางกรุงเทพฯ-มาบตาพุด ที่มีอยู่ก่อนแล้ว จะมีเฉพาะช่วงที่ต่อขยายเข้าเมืองระยอง ที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน และต้องมีการพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม
เนื่องจาก จ.ระยอง มีการพัฒนาการขยายอย่างต่อเนื่อง สำหรับที่ตั้งสถานีปลายทางมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ร่วมศึกษาคู่ขนานกัน อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะมีการพัฒนาไปรูปแบบใด ในรูปแบบของกรมโยธาธิการ และผังเมือง อาจจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ใหม่ เปิดใหม่ และเพื่อการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอาจต้องใช้พื้นที่ประมาณ 5,000-10,000 ไร่ จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีเมืองอยู่โดยรอบสถานีรถไฟ อาจมีอาคารพาณิชย์ ย่านการค้า โรงแรม และศูนย์การประชุม
นายกนก กล่าวต่อว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยองที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นร้อยละกว่า 90% เห็นด้วยกับโครงการนี้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการศึกษาที่จะเชื่อมต่อจากแก่งคอย จ.สระบุรี มา จ.ฉะเชิงเทรา หากมีการก่อสร้างโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทางภาคตะวันออก ที่จะเชื่อมต่อถึงกันกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มาทำงานในภาคตะวันออก สามารถเดินทางกลับภาคอีสานได้อย่างรวดเร็ว และมีความสะดวกสบายมากขึ้น
โดยในอนาคตประเทศจีนจะต่อขยายโครงการรถไฟความเร็วสูงมาถึงกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เวียงจันทน์ กับหนองคาย ก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ หากมีการเชื่อมต่อระบบรางกันได้หมด คนเมืองจีนก็จะสามารถเดินทางมาเที่ยวชลบุรี ระยอง และพัทยาได้ หรือคนระยอง ก็สามารถนั่งรถไฟความเร็วสูงไปเที่ยวเมืองจีนได้เช่นกัน