xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ชู “โคราช” โมเดลเมืองใหม่สถานีรถไฟความเร็วสูงนำร่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” ตั้งคณะอนุฯ พัฒนาเมืองใหม่และตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูง ชูโคราชโมเดลสถานีนำร่องรูปแบบใช้ที่ราชพัสดุพัฒนา ส่วนสถานีในเมืองใช้การจัดรูปที่ดินลดเวนคืน สั่งปลัดคมนาคมเจรจา กสทช.ทบทวนจัดสรรคลื่นความถี่คุมระบบอาณัติสัญญาณใหม่ มั่นใจชุมนุมการเมืองไม่กระทบกู้ 2 ล้านล้าน ชี้เอกชนหนุนเดินหน้า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานติดตามความคืบหน้าการพัฒนารถไฟความเร็วสูงวานนี้ (7 ส.ค.) ว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 2 ชุด คือ 1. คณะอนุฯ พิจารณาตำแหน่งและแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีทุกเส้นทางให้ได้ข้อสรุปใน 1 เดือน โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), กรมธนารักษ์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วม เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ 1. ใช้ที่ราชพัสดุของหน่วยราชการ 2. การจัดรูปที่ดินซึ่งไม่มีการเวนคืนแต่จะเป็นการนำที่ดินมารวมกันและจัดผังใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เจ้าของที่ดินเดิม โดยคาดว่าสถานีปากช่องที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีความพร้อมสามารถทำเป็นสถานีนำร่องพัฒนาเป็นเมืองใหม่ได้ โดย สนข.ได้เจรจากับกองทัพบกขอพื้นที่จำนวน 551 ไร่มาพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ บริเวณตำบลนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ยังมีที่ดินของกองทัพบก 3,385 ไร่ที่เหมาะสมพัฒนาเป็นเมืองใหม่ได้

“การพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานีรถไฟความเร็วสูงก็ได้ เพราะหากกำหนดสถานีอยู่ในเขตเมืองเก่าการพัฒนาเชิงพาณิชย์จะได้ผลตอบแทนจำกัด การเปิดพื้นที่เป็นเมืองใหม่จะดีกว่า แต่จะต้องอยู่ในรัศมีจากสถานีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และต้องทำระบบขนส่งเชื่อมกับสถานี โดยจะยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลกได้ในเดือนกันยายนนี้”

ส่วนอีกชุดเป็นคณะอนุฯ พิจารณาการใช้คลื่นความถี่ของกระทรวงคมนาคมเพื่อใช้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟความเร็วสูง มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยให้เจรจากับ กสทช.ขอให้ทบทวนการจัดสรรคลื่นความถี่ หลังจากที่ กสทช.จัดเตรียมย่านความถี่ 890-894 MHz Up Link ให้ซึ่งไม่ตรงต่อความต้องการที่กระทรวงต้องการย่านความถี่ 876-880 MHz Up Link และ 921-925 MHz Down Link ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการเดินรถไฟความเร็วสูงให้มีความปลอดภัยสูงสุด

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงไปพิจารณาข้อดีข้อเสียการปรับแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ช่วงอำเภอเมืองเพชรบุรีไปตามแนวเขตทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ประมาณ 4.5 กิโลเมตร เสนอที่ประชุมอีกครั้ง

ทั้งนี้ สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในขณะนี้เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบให้โครงการตาม พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาทมีความล่าช้า โดยล่าสุดจากการพูดคุยกับภาคเอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไปเพราะโครงการมีประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำเอกสารตอบข้อสงสัยทุกประเด็นที่เคยมีการสอบถามมาแล้ว เพื่อแสดงความโปร่งใสในการทำงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น