xs
xsm
sm
md
lg

ปรับตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูง เน้นพัฒนาเชิงพาณิชย์ร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนข.เร่งศึกษาปรับตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง ทั้ง 4 เส้นทาง หลังสำรวจใช้แนวและสถานีรถไฟปัจจุบัน เจอปัญหาบางสถานีคับแคบเกินไปไม่เหมาะพัฒนาเชิงพาณิชย์และจัดการจราจรไม่ได้ คาดสรุปใน มิ.ย.นี้ เผยหลักย้ายห่างจากที่เดิมไม่เกิน 4-5 กม.และเน้นใช้ที่ดินหน่วยงานรัฐ ลดผลกระทบเวนคืน ส่วนงานระบบคาดเปิดประมูล ก.ย.-ต.ค.นี้

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ว่า ขณะนี้ยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด โดยเฉพาะตำแหน่งสถานีที่เหมาะสมของทั้ง 4 เส้นทาง เนื่องจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะไปตามแนวทางรถไฟปัจจุบัน แต่ตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟในปัจจุบันบางแห่งไม่เหมาะสม เช่น สถานีพิษณุโลก, นครราชสีมา, เพชรบุรี ,หัวหิน บางแห่งมีพื้นที่แคบไม่สามารถนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ หรือบางแห่งมีปัญหาเรื่องการจัดการจราจรที่ให้มีความสะดวกมากที่สุด ซึ่งเบื้องต้นจะปรับย้ายตำแหน่งสถานีให้เหมาะสมซึ่งจะขยับไปแต่อยู่ในรัศมี 4-5 กิโลเมตรจากสถานีเดิม พร้อมทั้งให้เอกชนในพื้นที่เข้ามาร่วมพัฒนาด้วย

“การปรับตำแหน่งสถานีต้องพิจารณาความเหมาะสมหลายเรื่อง เช่น จุดใหม่ต้องเวนคืนมากน้อยเพียงใด ซึ่ง หลักการจะพยายามใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หรือของหน่วยงานรัฐให้มากที่สุด เช่น ที่ดินของกรมธนารักษ์ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน และประหยัดค่าก่อสร้าง ซึ่งหากสถานีใดมีตำแหน่งเหมาะสมอยู่แล้ว จะต้องใช้ร่วมกันทั้งรถไฟปัจจุบันและรถไฟความเร็วสูง จะมีออกแบบเป็นชานชาลาเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกสำหรับรถไฟธรรมดา ส่วนชั้นบนสำหรับรถไฟเร็วสูง โดยหลังจากสงกรานต์ไปแล้ว เราจะเริ่มจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ ตำแหน่งสถานีจะมีความชัดเจน” นายจุฬากล่าว

นายจุฬากล่าวว่า ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ กระทรวงคมนาคมจะประกาศเชิญชวนให้ผู้ผลิตระบบรถไฟความเร็วสูงจากทั่วลกมายื่นข้อเสนอแข่งขัน โดย สนข.จะเป็นผู้จัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) แล้วพิจารณาว่าผู้ผลิตรายใดยื่นข้อเสนอได้เหมาะสมสุด เช่น เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับราคา โดยผู้ลิตต้องคำนวณราคาการวางระบบและค่าบำรุงรักษาตลอด 30 ปี ซึ่งในการประกวดราคาจะทำแบบนานาชาติ (International Bidding) และใช้ผู้ผลิตเพียงรายเดียว เพื่อให้รถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทางใช้ระบบเดียวกันทั้งหมด

ส่วนการก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะประกวดราคาได้ประมาณต้นปี 2557 โดยแต่ละสายทางจะประกวดราคาไม่พร้อมกัน ขึ้นกับขั้นตอนการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เส้นทางไหนเสร็จก่อนจะได้ประกวดราคาก่อน โดยคาดว่า เส้นทางแรกคือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา เพราะมีความพร้อมมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น