พิษณุโลก - ทีมบริษัทที่ปรึกษา สนข. เดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กางผังเสนอ 5 ทางเลือก ทั้งตามแนวเส้นทางเดิม และการเปิดเส้นทางใหม่ผ่าน “สุโขทัย”
วันนี้ (28 มี.ค.) บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนเจอร์ จำกัด 1 ใน 7 บริษัทที่ปรึกษาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.)ได้จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ที่ศาลาประชาคมข้างศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก มีนายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก เป็นประธาน พร้อมเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขต อ.เมือง อ.บางระกำ และ อ.บางกระทุ่ม
60 คนร่วมแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ บริษัทฯ เสนอแนวเส้นทางรถไฟ 5 ทางเลือก คือ 1. ใช้แนวรถไฟเดิมจาก จ.พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เด่นชัย เชียงใหม่ 2. ใช้แนวรถไฟเดิม แต่วกไปฝั่งตะวันตก ก่อนตัดเข้าแนวเดิม อ.พยุหะคีรี เข้า จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก มุ่งหน้าเส้นใหม่ไป อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และบรรจบรถไฟเดิมที่ ต.กล้วยแพะ จ.ลำปาง
3. แนวรถไฟเดิม วกไปฝั่งตะวันตกก่อนตัดเข้าแนวเดิม อ.พยุหะศิรี เข้า จ.นครสวรรค์ ตัดใหม่ผ่าน อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ผ่าน อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร บรรจบกับ อ.เมือง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และบรรจบรถไฟเดิมที่ ต.กล้วยแพะ จ.ลำปาง
4. แนวรถไฟเดิมถึงแค่อยุธยา จากนั้นตัดใหม่ขึ้น จ.อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สุโขทัย ตัด อ.สบปราบ จ.ลำปาง 5. ผสมผสานทางเลือกที่ 1 และ 2 ทั้งนี้ทางเลือกที่ 1 ที่ใช้แนวรถไฟเดิมสามารถก่อสร้างรวดเร็ว ส่วนแนวทางเลือกที่ 2 เป็นแนวใหม่ ตัดผ่านพื้นที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ คือ จ. สุโขทัย
นายมนต์ชัยกล่าวว่า รถไฟสายเหนือควรใช้เส้นทางรถไฟเดิม คือ พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เด่นชัย เชียงใหม่ คือ ทางเลือกที่ 1 เพราะจะไม่ต้องเวนคืนที่ดินให้วุ่นวาย สามารถก่อสร้างบริเวณที่ดินข้างทางของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทันที ส่วนแนวทางเลือกอื่นตนไม่เห็นด้วย
ข่าวแจ้งว่า วันที่ 29 มีนาคมจะเป็นเวทีของชาว จ.พิจิตร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม เริ่มศึกษาออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง คือ 1. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ 2. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย 3. กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ 4. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-ระยอง โดยมอบหมายให้ สนข.ศึกษาออกแบบโครงการ ก่อนประมูลงานก่อสร้างรภายสิ้นปี 2556