ร.ฟ.ท.เล็งขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองไปถึง จ.ตราด หวังเชื่อมกัมพูชารับนักท่องเที่ยวเพิ่ม “ชัชชาติ” เร่งประมูลตัวรถให้ได้ในไตรมาส 3/56 กำชับออกแบบก่อสร้างรอบคอบลดผลกระทบในระยะยาว สั่งประสานแบบกับ กบอ.หวั่นขวางเส้นทางระบายน้ำ ส่วนรถไฟสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ทำ sky walk เชื่อมสถานีมีนบุรี-สุวินทวงศ์ แทนเปลี่ยนแนวสั่ง สนข.ประเมินข้อดี-ข้อเสียก่อนเสนอ ครม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมนโยบายการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) วานนี้ (20 มี.ค.) ว่า ขณะนี้เส้นทางกรุงเทพมหานคร-หนองคายได้ออกแบบถึงจังหวัดนคราชสีมาแล้ว โดยโครงสร้างจะมีทั้งระดับดินและยกระดับสลับกันไป ซึ่งคาดว่าจะยื่นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนที่ยังมีประเด็นข้อกังวล คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ ซึ่งแนวทางเลือกไปทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน-นครปฐม-ราชบุรี นั้น จะมีจุดที่ตัดกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือแบบก่อสร้างร่วมกัน ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่นั้น อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของ 5 เส้นทางเลือกที่เหมาะจากที่เสนอมา 5 แนวทาง
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทางที่จะก่อสร้าง เนื่องจากแนวที่จะก่อสร้างมีให้เลือกน้อยลงแล้ว รวมถึงการออกแบบก่อสร้างทางข้าม ทางลอด เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงการก่อสร้างอื่นๆ ในระยะยาว และประชาชนตลอดเส้นทาง รวมถึงส่งแบบการก่อสร้างให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ให้ดูว่าแนวเส้นทางกระทบต่อการระบายน้ำหรือไม่ เพื่อวางระบบระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับน้ำที่เคยท่วม
“เรื่องจุดตัดกับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ จะเชิญผู้แทนบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL มาหารือด้วยเพื่อปรับแบบให้สอดคล้องกัน การศึกษารถไฟความเร็วสูงเดินหน้าอย่างเต็มที่ ไม่รอพ.ร.บ. 2 ล้านล้านผ่านเพราะสนข.มีงบศึกษาอยู่แล้ว โดยตั้งเป้าว่าในไตรมาสที่ 3/2556 จะประกวดราคาตัวรถและระบบอาณัติสัญญาณก่อน เพื่อง่ายต่อการออกแบบรายละเอียดโครงสร้าง ซึ่งขณะนี้มีผู้ผลิตรถ 5 ประเทศสนใจ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สเปน ฝรั่งเศส โดยจะนำรถมาแสดงในนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงด้วย” นายชัชชาติกล่าว
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ร.ฟ.ท.รับผิดชอบออกแบบเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 221 กม. มูลค่าโครงการ 72,265 ล้านบาท อยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาทบทวนในการต่อขยายเส้นทางออกไปถึงจังหวัดตราดระยะทางอีกกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อให้เชื่อมต่อการเดินทางกับประเทศกัมพูชาที่มีท่าเรือรองรับนักท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
จ่อทำ sky walk เชื่อมสุวินทวงศ์-สถานีมีนบุรีสายสีชมพู แก้ปัญหา ส.ส.ร้องเรียน
นายชัชชาติกล่าวถึงการแก้ไขปัญหารถไฟสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กรณีที่นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ในฐานะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้ปรับแนวเส้นทางจากเดิมที่สิ้นสุดที่สถานีมีนบุรี เป็นสถานีสุวินทวงศ์แทนว่า ได้มอบหมายให้ สนข.เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียเพื่อหาแนวทางที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ก่อนสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนเมษายนนี้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า รูปแบบที่เหมาะสมคือ ก่อสร้างแนวเส้นทางเดิมสิ้นสุดที่สถานีมีนบุรี และก่อสร้างทางเดินเชื่อม (sky walk) ระหว่างสถานีมีนบุรีและบริเวณสุวินทวงศ์ระยะทางประมาณ 400 เมตร นอกจากนี้จะต้องทำที่จอดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จะต้องรอดูรายละเอียดเพื่อสรุปอีกครั้ง คาดว่าจะสรุปใน 2 สัปดาห์นี้