xs
xsm
sm
md
lg

“ทนง” แนะเลื่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ผ่าทางตันการเมือง แต่ไม่ควรให้เกิดภาวะสุญญากาศนานเป็นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทนง พิทยะ” อดีตขุนคลัง ชี้ทางออกประเทศไทยควรตั้งคณะทำงานร่วมปฏิรูปการเลือกตั้ง แม้จะต้องล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่ควรให้นานจนเกิดภาวะสุญญากาศเป็นปี เชื่อนักลงทุนมั่นใจ และช่วยขับเคลื่อนจีดีพีปีหน้าเติบโตได้ 4.5-5.0% พร้อมแนะรัฐบาลใหม่ต้องเลิกประชานิยมในทันที โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าวที่ไม่เกิดมูลค่ายั่งยืนในทางเศรษฐกิจ ส่วนโครงการลงทุน 2 ล้านล้าน ไม่ควรใช้เงินนอกงบฯ เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ ชี้รถไฟความเร็วสูงไม่จำเป็นเร่งด่วนเหมือนรางคู่

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดเผยถึงทางออกของประเทศไทยจากปัญหาการเมืองในขณะนี้ ในงานประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจประเทศไทย โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่า ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับกติกา โดยร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์แนวทางการปฏิรูปทางการเมืองหลังจากนี้ไป แม้ว่าอาจจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งอย่างน้อย 1-2 เดือนก็ตาม เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายจะยอมรับได้ ซึ่งจะเป็นกฎกติกาในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจบลง

ทั้งนี้ ตนเองคงไม่เห็นด้วยหากจะเลื่อนการเลือกตั้งนานถึง 12-18 เดือนตามที่ กปปส.เสนอ เพราะจะทำให้เกิดสุญญากาศ และนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติกำลังรอความชัดเจนเพื่อที่จะกลับเข้ามาลงทุนในไทยเช่นเดิม ซึ่งมองว่าประเทศไทยควรจะปฏิรูปการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพมาบริหารประเทศ

โดยนักลงทุนส่วนใหญ่กำลังจับตามองการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในไทย โดยเฉพาะการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ดังนั้น รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา เพราะหากประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรมก่อนการเลือกตั้ง จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตร้อยละ 4.5-5.0

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่จะตัองเร่งดำเนินการเพิ่มขึ้นคือ ต้องดำเนินนโยบายการคลังที่เน้นกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งต้องทบทวนนโยบายประชานิยมที่ไม่ได้สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจ แม้จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้นก็ตาม ซึ่งถือเป็นผลเสียมากกว่า เช่น โครงการรับจำนำข้าว

ขณะที่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลใหม่ต้องทบทวนแนวทางการดำเนินโครงการที่ไม่ควรใช้เงินนอกงบประมาณในการก่อสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และเห็นว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินเท่ากับโครงการรถไฟรางคู่ที่สามารถพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าได้ เพราะมีความเหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจไทยมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น