ศูนย์ข่าวศรีราชา - ร.ฟ.ท.จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 ศึกษาความเหมาะสม สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นข้อมูลทำ EIA ชี้สิ้นปีหน้าเริ่มดำเนินการก่อสรัาง ระบุผ่านเขาชีจรรย์ต้องเจาะอุโมงค์ลอดลดพื้นที่เวนคืนที่ดิน
วันนี้ (29 ต.ค.) กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายจากทีาอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา ไปถึงระยอง หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง โดยจัดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองศรีราชา จ.ชลบุรี
ตัวแทนกลุ่มบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจากการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ศึกษาโครงการ เผยว่าได้เปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับในครั้งนี้อยู่ในช่วงระยะของการสร้างการรับรู้ในข้อมูลเหตุผล และความจำเป็นของโครงการ รวมทั้งนำเสนอการศึกษาแนวเส้นทางเลือกที่เหมาะสมจากผู้เข้าร่วมประชุม ต่อด้วยการพิจารณารายละเอียดเรื่องตารางการเดินรถ ราคาค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม ก่อนจะรวบรวมข้อเสนอแนะจากที่ประชุมเป็นขัอมูลสนับสนุนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
จากนั้นจะเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินโครงการ และสรุปแนวทางดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยประมาณการว่าประมาณเดือนธันวาคมปีนี้จะสามารถสรุปโครงการได้ และประมาณกลางปีจะเป็นการเปิดประมูลโครงการคัดเลือกผู้รับเหมา ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณปลายปี 2557 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี ซึ่งมีแผนเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2562 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ด้วยขนาดของประเทศ และความเหมาะสมในการใช้พลังงาน คณะทำงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงพิจารณากำหนดความเหมาะสมของความเร็วในการเดินรถไฟฟ้าความเร็วสูงอยู่ที่ 250 กม./ชม. ในส่วนสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ชลบุรี-ระยอง มีระยะทาง 206 กม. ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าของเมืองต่างๆ ที่เส้นทางเดินรถพาดผ่าน และพื้นที่เวนคืนที่ดิน โดยจะยึดแนวทางรถไฟรางคู่เดิม แต่ด้วยความเร็วของรถไฟฟ้าความเร็วสูงจำเป็นต้องมีการปรับแนวรัศมีตามความโค้งให้เกิดความสมดุลเพื่อความปลอดภัย พื้นที่ที่ทำการเวนคืนจึงขยายเพิ่มขึ้น
โดยพื้นที่ที่ต้องถูกเวนคืนส่วนใหญ่จะอยู่นอกเขตเมือง ได้มีการศึกษาพื้นที่สำหรับแต่ละสถานีให้สอดคล้องกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ในส่วนสถานีฉะเชิงเทรา คณะทำงานพิจารณาแล้วว่าจังหวัดฉะชิงเทรา เป็นจังหวัดที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องอุตสาหกรรม และเรื่องการท่องเที่ยว จึงต้องดูว่าพื้นที่ก่อสร้างสถานีนั้นเหมาะสมต่อความเป็นอย่างท้องถิ่นด้วย และในเส้นทางเดินรถจากพัทยาถึงระยอง ในช่วงเขาชีวจรรย์ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ-ชลบุรี สภาพรางคู่แบบเดิมต้องอ้อมหัวเขาซึ่งจะทำให้มีการเวนคืนพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงตกลงมติก่อสร้างอุโมงค์เจาะทะลุเขาในระยะ 500 ม. เพื่อต่อไปยังสถานีระยองต่อไปด้วย