ศูนย์ข่าวขอนแก่น- “ชัชชาติ” เปิดนิทรรศการ “สร้างอนาคตไทย 2020” โรดโชว์โปรเจกต์ยักษ์รถไฟความเร็วสูงที่จังหวัดขอนแก่น เผยชาวขอนแก่นเห่อรถไฟความเร็วสูงเข้าคิวทดลองนั่งยาวเหยียด ชาวบ้านหนุนรัฐบาลสร้าง ขณะที่ประธานสภาอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วย ชี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอีสาน ทั้งสร้างภาระหนี้ให้คนทั้งชาติในระยะยาว
วันนี้ (25 ต.ค.) ที่หอประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “สร้างอนาคตไทย 2020” งานนิทรรศการนำเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งได้รับความสนใจมีประชาชนจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาร่วมชมนิทรรศการอย่างเนืองแน่น
โดยงานนิทรรศการ “สร้างอนาคตไทย 2020” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่งของประเทศ มีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020
ภายในงานนำเสนอนิทรรศการข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง จำลองตู้รถไฟความเร็วสูงให้ทดลองนั่ง แผนที่เส้นทางคมนาคมใหม่ โครงข่ายคมนาคมในอนาคต ร่วมหาคำตอบว่าประชาชนในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงจะได้รับประโยชน์อะไรทั้งด้านเศรษฐกิจ การเดินทาง และชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะรวบรวมนำไปปรับปรุงโครงการเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ ภายในงานในส่วนของบูทจำลองตู้รถไฟความเร็วสูงได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาร่วมชมนิทรรศการมาก โดยมีประชาชนต่างเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงจำลองกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกัน ในส่วนของพื้นที่อื่นก็ได้รับความสนใจเช่นกัน ทั้งการเขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่งประเทศ เป็นต้น
นายสุพจน์ ทุมแก้ว อายุ 57 ปี ชาวบ้านเวียงเก่า อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยหลังได้ชมนิทรรศการว่า เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อทราบข่าวจาก อบต.ในพื้นที่ว่าจะมีการจัดนิทรรศการสร้างอนาคตไทย 2020 ที่ จ.ขอนแก่น เป็นโอกาสดีที่จะได้มาศึกษารายละเอียดของโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางเดินรถ และได้ร่วมทดลองนั่งในระบบจำลองแล้วด้วย
เชื่อมั่นว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงหากมีการพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรมจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานมาก เป็นทางเลือกการเดินทางให้ชาวจังหวัดขอนแก่นและหลายจังหวัดในภาคอีสานสามารถเดินทางไปยังเมืองหลวงได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างงานและเสริมสร้างรายได้ให้แก่คนอีสาน จากโครงการลงทุนอื่นจะตามมาจากการมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาในอีสานด้วย
ด้านนายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท โดยนำมาพัฒนาระบบรางกว่า 1.6 ล้านล้านบาทนั้น จะมีการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) พบว่า ตามงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสานจะมาถึงแค่จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น
เชื่อว่าจะไม่เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแก่จังหวัดขอนแก่น หรือจังหวัดใกล้เคียงมากนัก โดยราคาตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงนั้นจะมีราคาสูงมาก ซึ่งการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ มาที่จังหวัดนครราชสีมาด้วยรถไฟความเร็วสูงต้องยอมรับว่ามีกระบวนการขั้นตอนมากพอสมควร เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์โดยสาร หรือรถยนต์ส่วนตัว จะใช้เวลาถึงจุดหมายไม่ต่างกัน ซึ่งคนที่มีกำลังซื้อตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงมีไม่กี่กลุ่มหรือมีจำนวนค่อนข้างน้อย
นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ตามหลักการของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงจะมีเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นรัฐสวัสดิการให้แก่ประชากรในประเทศ ประเทศเหล่านี้จะนำเงินภาษีมาอุดหนุน ยอมขาดทุนไปกับการทุ่มเงินลงทุนทำรถไฟความเร็วสูง โดยในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ส่วนโซนอื่นคือสหภาพยุโรป ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถอุดหนุนเงินภาษีกับรถไฟความเร็วสูงได้
ขณะที่ประเทศไทยเงินคงคลังไม่มากพอ ต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนพัฒนารถไฟความเร็วสูง ทั้งต้องนำเงินภาษีมาอุดหนุน ประเทศจะแบกภาระขาดทุนได้หรือไม่ และปัญหาสำคัญคือ ต้องใช้หนี้เงินกู้ก้อนใหญ่ในระยะยาวด้วย ขณะที่สภาพเศรษฐกิจประเทศ ณ ปัจจุบันไม่เอื้อที่รัฐจะมาอุดหนุนและสร้างภาระหนี้แก่ประเทศระยะยาว ซึ่งการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง รัฐบาลชุดนี้ยังขาดการศึกษาที่รอบด้าน ไม่เข้าใจว่าจะเร่งรัดผลักดันโครงการไปเพื่ออะไร
โดยส่วนตัวภายใต้โครงการเงินกู้ปรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น สนับสนุนแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่น่าจะเหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจประเทศไทยมากกว่า การพัฒนาดังกล่าวใช้เงินลงทุนต่ำกว่ามาก อีกทั้งผลการศึกษาของ สนข.พบว่า เส้นทางรถไฟรางคู่จะเกิดประโยชน์ต่อการขนส่งมวลชน และการขนถ่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากระบบรถไฟรางเดี่ยวปัจจุบันถึง 5 เท่าตัว