xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” จ่อยื่นศาล รธน.พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ชี้ขัด รธน.-“ปิยสวัสดิ์” เชื่อ กม.ฉบับนี้ตกแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยกรณ์ จาติกวณิช สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ภาพจากแฟ้ม)
“กรณ์” เตรียมยื่นศาลวินิจฉัยกู้เงิน 2 ล้านล้าน เหตุขัดกับรัฐธรรมนูญ แนะรัฐออก พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล.กันศาลตีตก แฉมีกดบัตรแทนกัน ด้าน “ปิยสวัสดิ์” เชื่อศาล รธน.ไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ชี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มาจาก รบ.พยายามแก้ไขร่างรธน.ประเด็นที่มา ส.ว.พ่วง กม.นิรโทษกรรม แนะ รบ.ควรเร่งโครงการรถไฟรางคู่ มากกว่ารถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่ ที่ควรทบทวน เปรียบเงินลงทุนสามารถซื้อเครื่องบินมาให้บริการได้ถึง 330 ลำ แถมค่าโดยสารถูกกว่า

วันนี้ (21 พ.ย.) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนา “โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้ไปโลด” ซึ่งจัดโดย สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีสาเหตุมาจากความพยายามของรัฐบาล ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.และการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และมีความเป็นไปได้สูงที่พระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะไม่ผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลควรกลับมาใช้วิธีเสนองบประมาณตามขั้นตอนปกติของรัฐวิสาหกิจ

“ในอดีต โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ก็สามารถดำเนินการได้โดยวิธีของบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนเรื่องแผนโครงการก่อน ค่อยหางบประมาณมาลงทุน ซึ่งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ ซึ่งหากใช้วิธีปกติอาจเริ่มโครงการได้แล้ว” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการที่ควรเร่งดำเนินการ คือ โครงการรถไฟรางคู่ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ควรทบทวน เพราะเงินที่ใช้ลงทุนสามารถซื้อเครื่องบินมาให้บริการได้ถึง 330 ลำ โดยมีค่าโดยสารถูกกว่ารถไฟความเร็วสูง

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าพ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ คือ

1.มีการกดบัตรแทนกัน โดยมีคลิปหลักฐานวันที่ 20 ก.ย. 2556 ซึ่งเป็นการประชุมวาระ 2 ขณะลงมติมาตรา 6 โดยขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 126, 130 และขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

2.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เรื่องการถ่วงดุลอำนาจ เพราะมีการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เนื่องจาก 7 ปี ในการใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะไม่มีการตรวจสอบใดได้เลยจากฝ่ายนิติบัญญัติ ในการเบิกจ่ายงบประมาณ

3.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 57, 66, 67 ประเด็นประชาพิจารณ์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นรวมถึงให้ข้อมูลกับประชาชน

4.หลีกเลี่ยงการดำเนินการตามกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166, 167, 169 นอกจากนี้ การกู้เงินสามารถทำได้ในระบบ แต่รัฐบาลไม่ทำ ดังนั้น พ.ร.บ.นี้จึงถือเป็นเงินกู้ขนาดใหญ่ที่สุดกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มากกว่าตอนกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ 4 เท่า และมากกว่าวิกฤติแฮมเบอเกอร์ 5 เท่า

อย่างไรก็ดี ทางออกเรื่องนี้อยากให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม พ.ศ.2557 ในวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบท จากประมาณการณ์ของรัฐบาลในการเบิกจ่ายจากพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ 1.2 แสนล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งขั้นตอนการออก พ.ร.บ.เพิ่มเติมนั้น ในส่วนฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติสามารถทำให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ได้ไม่เกิน 5 เดือน ภายในสิ้นเดือน เม.ย. 2557 ซึ่งไม่ทำให้แผนการลงทุนที่มีความพร้อมต้องสะดุด และเดินหน้าต่อได้ทันตามกำหนดเดิมในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถอาศัยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทได้จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น