xs
xsm
sm
md
lg

กู้2ล้านล.ไม่ผ่านแน่ กดบัตรแทนกัน-หนีการตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21พ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายสาย กังกะเวคิน ส.ว.สรรหา และนส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. นำรายชื่อสมาชิกรัฐสภา 66 รายชื่อ ประกอบด้วยส.ว. 55 รายชื่อ และส.ส. พรรคประชาธิปัตย์อีก 11 รายชื่อ ยื่นต่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ขอให้ประธานรัฐสภายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และ 170 หรือไม่ เนื่องจากเป็นการให้อำนาจการจ่ายเงินแผ่นดินนอกระบบวิธีงบประมาณ โดยคำร้องขอให้ศาลชี้ให้มีผลเป็นโมฆะเท่านั้น โดยไม่ร้องให้เอาผิดบุคคล หรือพรรคการเมืองใดๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคก็ได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภา ขอให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องโดยหนังสือที่ยื่นไปนั้น มีสาระสำคัญคือ การที่รัฐบาลอ้างเหตุขอกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างด้านคมนาคม และรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจการลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศ แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้กู้เงินเป็นการเฉพาะ นอกเหนือว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สินสาธารณะ และกำหนดวิธีการใช้จ่ายเงินเป็นการเฉพาะนอกงบประมาณรายจ่าย กฎหมายเกี่ยวกับการเงินและการคลัง ซ้ำยังเป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณ ที่ไม่ต้องนำส่งคลังของกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และยังสามารถโยกเงินระหว่างแผนงานได้อีก จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ เป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณที่ใหญ่ที่สุด คือมากกว่า 4 เท่าของประเทศไทยที่เคยกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และต้องเสียดอกเบี้ยมหาศาลถึง 3 ล้านล้านบาท ในเวลา 50 ปีในอนาคต เป็นการย้ำชัดว่า ร่าง พ.ร.บ.ขอกู้เงินนี้ ไม่ได้ทำตามกรอบวินัยการเงิน การคลัง ที่ส.ส.หรือผู้แทนปวงชนในรัฐสภาไม่มีอำนาจแม้จะเสนอเป็นพ.ร.บ. โดยรัฐสภาให้ความเห็นชอบเพียงครั้งเดียว ที่จะขอกู้เงินมหาศาลมาใช้จ่ายใน 7 ปี พบว่ามีมูลค่าเกินครึ่งของงบฯ ลงทุนตามงบประมาณประจำปีปกติ ที่รัฐสภามีสิทธิกลั่นกรองทุกปี ที่เฉลี่ยตกปีละ 2.8 แสนล้านบาท แต่งบปี 56 กลับอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท จึงเป็นการใช้เงินแผ่นดินที่ไม่มีการถ่วงดุลจากรัฐสภา นอกจากนี้ ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการต่างๆ ว่าจะใช้จ่ายเท่าไร กลับเป็นเพียงกรอบการลงทุนพื้นฐานที่ไร้ความชัดเจนเป็นรูปธรรม

** แจงยิบกู้ 2 ล้านล้านขัดรธน.

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรมว.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ คือ
1. มีการกดบัตรแทนกัน โดยมีคลิปหลักฐานวันที่ 20 ก.ย. 56 ซึ่งเป็นการประชุมวาระ 2 ขณะลงมติ มาตรา 6 โดยขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 126,130 และขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 150
2. ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เรื่องการถ่วงดุลอำนาจ เพราะมีการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เนื่องจาก 7 ปี ในการใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะไม่มีการตรวจสอบใดได้เลยจากฝ่ายนิติบัญญัติ ในการเบิกจ่ายงบประมาณ
3. ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 57,66,67 ประเด็นประชาพิจารณ์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นรวมถึงให้ข้อมูลกับประชาชน
4.หลีกเลี่ยงการดำเนินการตามกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166,167,169 นอกจากนี้ การกู้เงินสามารถทำได้ในระบบ แต่รัฐบาลไม่ทำ ดังนั้น พ.ร.บ.นี้จึงถือเป็นเงินกู้ขนาดใหญ่ที่สุดกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มากกว่าตอนกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ 4 เท่า และมากกว่าวิกฤติแฮมเบอเกอร์ 5 เท่า
อย่างไรก็ดี ทางออกเรื่องนี้อยากให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม พ.ศ.2557 ในวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบท จากประมาณการณ์ของรัฐบาลในการเบิกจ่ายจากพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ 1.2 แสนล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งขั้นตอนการออก พ.ร.บ.เพิ่มเติมนั้น ในส่วนฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติสามารถทำให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ได้ไม่เกิน 5 เดือน ภายในสิ้นเดือนเม.ย. 57 ซึ่งไม่ทำให้แผนการลงทุนที่มีความพร้อมต้องสะดุด และเดินหน้าต่อได้ทันตามกำหนดเดิมในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถอาศัยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทได้จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

** "ปิยสวัสดิ์"ชี้ไม่ผ่านศาลรธน.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนา "โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้ไปโลด" ซึ่งจัดโดย สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีสาเหตุมาจากความพยายามของรัฐบาล ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของส.ว. และการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมีความเป็นไปได้สูงที่ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะไม่ผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลควรกลับมาใช้วิธีเสนองบประมาณ ตามขั้นตอนปกติของรัฐวิสาหกิจจะดีกว่า
"ในอดีต โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ก็สามารถดำเนินการได้โดยวิธีของบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนเรื่องแผนโครงการก่อน ค่อยหางบประมาณมาลงทุน ซึ่งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ ซึ่งหากใช้วิธีปกติอาจเริ่มโครงการได้แล้ว”นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการที่ควรเร่งดำเนินการ คือโครงการรถไฟทางคู่ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ควรทบทวน เพราะเงินที่ใช้ลงทุนสามารถซื้อเครื่องบินมาให้บริการได้ถึง 330 ลำ โดยมีค่าโดยสารถูกกว่ารถไฟความเร็วสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น