xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” กล่อมคนตะวันออกกู้ 2 ล้านล้านประเทศเป็นหนี้ แต่พ้น 50 ปีแล้วสบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ภาครัฐจัดนิทรรศการ “สร้างอนาคตไทย 2020” ที่ีพัทยา เป่าหูคนภาคตะวันออก “กิตติรัตน์” ชี้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท สังคมอาจมองว่าประเทศต้องเป็นหนี้ แต่เมื่อพ้น 50 ปีแล้วสบาย

วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ศูนย์ประชุมพีช โรงแรมรอยัลคลิฟ โฮเต็ลกรุ๊ป เมืองพัทยา จ.ชลบุรี จัดนิทรรศการ “สร้างอนาคตไทย 2020” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ภาครัฐบาลจัดขึ้นเพื่อรวบรวมความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยมีการจัดสัญจรเดินสายต่อเนื่องในพื้นที่ภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคมนี้

ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการ พร้อมการแสดงมัลติมีเดียนำเสนอความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งของประเทศ ความจำเป็นในการลงทุน และเป้าหมายที่จะได้รับใน 7 ปีข้างหน้า หลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำเข้ามาพัฒนาระบบ ทั้งนี้ นิทรรศการจะนำเสนอข้อมูลโครงข่ายคมนาคมของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าง รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ โครงข่ายถนนเชื่อมภูมิภาค ท่าเรือ และการพัฒนาด่านการรค้าชายแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เน้นการลงทุนในระบบคมนาคม ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เกิดการเดินทางขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว และเข้าถึงทุกพื้นที่แล้ว ยังมีผลต่อเศรษฐกิจ การค้า อาชีพในอนาคต

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดทำเนื้อหาในระดับภูมิภาค จังหวัดและชุมชน เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อรับทราบข้อมูลการลงทุนวางแผนชีวิต และการงานในอนาคตได้อย่างเหมาะสม พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อีกด้วย

พร้อมกันนี้ ยังจัดปาฐกถาพิเศษ โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ร่วมการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งระดับชาติ และท้องถิ่นในหัวข้อ “ภาคตะวันออก ศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรม การลงทุน และการท่องเที่ยว” โดยพบว่ามีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังนับพันคน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการ เงินในปี 2540 โดยมีการกู้เงิน 1.14 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยต้องเป็นหนี้ และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการชำระดอกเบี้ยถึงปีละ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งกินเวลานานมานับ 10 ปี รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกำหนดชำระหนี้จนถึงปัจจุบนถือวาสเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น สังคมมองว่าประเทศต้องเป็นหนี้กินเวลานานถึง 50 ปีที่ต้องเสียเวลาในการชำระเงินคืน แต่เมื่อพ้น 50 ปีไปแล้ว เมื่อหนี้สินหมดไปประเทศไทยก็ยังมีทรัพย์สินอยู่ที่ยังสามารถใช้งานไปได้อีกหลายทศวรรษ ที่สำคัญเงินกู้เหล่านี้มีการกำหนดการชำระไว้เป็นที่ชัดเจน โดย 10 ปีแรกจะยังไม่ชำระ จะเริ่มในปีที่ 11 ขั้นต้น จำนวน 2 หมื่นล้านบาท จากนั้นก็จะจัดแบ่งงบประมาณไว้ในสัดส่วน 100 ละ 1 เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถชำระได้ให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงบเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้นได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบด้านการขนส่งและคมนาคมเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายแยกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีภาระ และโครงสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุมหลายด้าน เพราะหากไม่กำหนดแบ่งแยกให้เกิดความชัดเจนก็จะทำให้การพัฒนาระบบเหล่านี้เป็นอย่างเชื่องช้าไม่เกิดผลโดยเร็ว โดยมีการกำหนดโครงการรองรับไว้แล้วกว่า 50 โครงการ ซึ่งถือว่าครบถ้วน คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมีการตรวจสอบ และพิจารณาอย่างรอบคอบจากสำนักงบประมาณ และคณะรัฐมนตรี

ดังนั้น จึงจะไม่มีการนำงบประมาณมากองไว้ หรือก่อให้เกิดหนี้ก่อน แต่จะทำไปตามโครงการที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในส่วนนี้จะมีการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งที่เชื่อมโยงภายในประเทศ และจุดเชื่อมต่อในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวด้านการขนส่งสินค้า และการเดินทาง

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวเสริมถึงโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกนั้น ด้วยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประเทศในหลายด้าน ทั้งด้านการอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และอื่นๆ รวมหลายแสนล้านบาท มียอด GDP สูงในอันดับต้นๆของประเทศ แต่ที่ผ่านมา กลับมีงบประมาณลงมาสนับสนุนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของการขนส่ง การคมนาคม โดยจะดูได้จากสถิติของจำนวนผู้คนที่เดินทางเข้าสู่ภาคตะวันออกนั้นจะเป็นการเดินทางโดยรถยนต์ 84% รถโดยสาร 16% ไม่มีเรื่องของระบบรางเข้ามาเป็นสัดส่วนในการเดินทาง

ขณะที่ภาคการขนส่งนั้นสถิติพบว่า การขนถ่ายสินค้าทางระบบรางซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำอยู่ที่ 1.7 ล้านตัน/ปี ขณะที่การขนส่งทางรถบรรทุกกับอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งกรณีนี้ส่งผลให้การรจราจรติดขัด การคมนาคมถือว่าถึงขั้นวิกฤต นอกจากนี้ ยังทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงขึ้น รวมไปถึงเรื่องของพลังงานที่สิ้นเปลืองเช่นกัน

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น มีการกำหนดโครงการหลักไว้แล้วรวมไปเป็นงบประมาณกว่า 1.3 แสนล้านบาท เช่น โครงการถไฟฟ้าความเร็วสูง สาย กทม.-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 221 กม. ซึ่งจะเชื่อมโยง 3 สนามบินหลัก ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ด้วยรถไฟความเร็วสูงเฉลี่ย 250-400 กม.ต่อชั่วโมง พร้อมด้วยการก่อสร้าง 5 สถานีจอดหลัก บรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 13,800 คนต่อวัน หรือโครงการรถไฟรางคู่ ถนนขนาด 4 เลน จัดทำโครงข่ายถนนเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 การพัฒนาโครงข่ายการจราจรทั่วภูมิภาค เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมทุกภาคส่วน และทำประชาพิจารณ์เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม โครงการ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นโครงการที่จัดทำเพื่ออนาคต และเกิดผลเป็นรูปธรรมแน่นอน โดยมีการกำหนดกรอบของการปฏิบัติไว่อย่างชัดเจนในระยะเวลา 7 ปีที่ต้องแล้วเสร็จ และถือเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพราะหากรอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีความคืบหน้าในการพัฒนาจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า และจะทำให้อนาคตประเทศไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องของต้นทุนที่จะสูงขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ย และโอกาสที่จะเสียไปด้วย

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีปัญหาการคอร์รัปชันสูงนั้น เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักและร่วมกันตรวจสอบดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องเน้นให้มีการปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดำเนินการใดๆ หรือไม่จัดทำก็จะทำให้ประเทศเดินไปไม่ได้ และการพัฒนาในด้านต่างๆ จะไม่ครอบคลุม และเกิดประโยชน์สูงสุด



กำลังโหลดความคิดเห็น