โฆษกรัฐบาลเผยเตรียมเดินสายโรดโชว์ 2 เดือน 12 จังหวัดทั่วไทย แจงแผนพัฒนาประเทศ 2 ล้านล้านบาท นายกฯ เตรียมแถลงใหญ่ 26 ก.ย.อ้างเปิดความในใจหลัง พ.ร.บ.ผลาญเงินผ่านสภา “วิม” ปากขายฝันบอกปี 2020 ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ อีกด้าน “ค้อนปลอม” ร่อนหนังสือนัดประชุมแถลงนโยบาย 24 ก.ย.นี้ หลังดองเค็มมานานข้ามปี
วันนี้ (20 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความพร้อมการจัดโรดโชว์โครงการ 2 ล้านล้านบาทสร้างอนาคตไทย 2020 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการแผนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเข้าร่วมประชุม อาทิ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นต้น ใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง
จากนั้นเวลา 16.10 น.นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ว่า จะมีการเดินสายโรดโชว์กับประชาชนทุกภาคทั่วประเทศทั้งหมด 12 จังหวัด โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการเดินสายโรดโชว์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้ช่วงบ่ายวันที่ 26 ก.ย.นายกฯจะเป็นผู้แถลงข่าวโครงการดังกล่าวด้วยตนเอง สำหรับเรื่องเนื้อหาจะเป็นการดูโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศที่จะเกิดขึ้น สำหรับโครงการสร้างอนาคตไทย 2020 จะเป็นการให้ข้อมูลโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร และเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างไร 2.เป็นการพูดถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในจังหวัด การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในปี 2020 ว่าจะเป็นอย่างไร โดยทีมงานที่ทำในส่วนนี้ต้องศึกษาว่าในแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ วัฒนธรรมอย่างไรบ้างที่จะมาผสมผสาน และเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร เมื่อโครงการเสร็จในปี 2020 ทั้งนี้ถ้ามองไปในอนาคตเมื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเสร็จการท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนแปลงไป การเดินทางจะง่ายขึ้น การท่องเที่ยวต้องมาคิดในมุมมองใหม่ว่าปี 2020 การท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นอย่างไร ส่วนสินค้าโอทอปเป็นความประสงค์ของนายกฯ ตั้งแต่วันแรกที่อยากจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
โฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่า ในวันที่ 26 ก.ย.เราคาดหวังว่า พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน น่าจะผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว คงจะเป็นวันที่นายกฯ จะกล่าวถึงความในใจว่าสิ่งที่ท่านต้องการอยากจะเห็นในวิชันของท่านในปี 2020 จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ต้องมองในอนาคตว่าปี 2020 ที่จะเกิดขึ้นเป็นอนาคตใหม่กับคนรุ่นใหม่ ดังนั้นเราจะมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาวาดภาพ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเขียนเรียงความ มหาวิทยาลัย มีส่วนร่วม เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตปี 2020 เป็นอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลมีความตั้งใจไว้ว่าเมื่อเดินโรดโชว์ครบ 12 จังหวัดแล้ว ภายในต้นปีหน้าเราจะกลับมาที่กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดงานครั้งใหญ่ให้ประชาชนกรุงเทพฯได้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า เบื้องต้นจะเริ่มโรดโชว์ภาคอีสาน จ.อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย บึงกาฬ อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดอีสานเหนือ ระหว่างวันที่ 4-5-6 ตุลาคม โดยกรอบในการทำโรดโชว์แต่ละพื้นที่จะใช้เวลากลุ่มจังหวัดละ 3 วัน ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของอนาคตไทยปี 2020 ไม่ได้หมายความว่าจะเน้นในเรื่องการขนส่งสินค้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น แต่จะพูดถึงการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ในกลุ่มของประเทศอาเซียน ฉะนั้นหากเรามุ่งเน้นที่เรื่องของการขนคน ขนสินค้าเพียงอย่างเดียว การลงทุนจะไม่คุ้มค่า แต่อัตราการเจริญเติบโตของเมือง ของจังหวัดต่างๆ ที่ระบบรางไปถึงจะทำให้อัตราการเจริญเติบโต เปลี่ยนให้ความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น
นายวิม กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ในโครงการยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในรายละเอียด จะต้องมีการสรุปอีกครั้งหนึ่งแต่วันนี้เป็นเรื่องของการพูดคุยในกรอบเรื่องการทำงานในรายละเอียดต่างๆ โดยหลังจากนี้ผู้ที่ดำเนินการต้องไปเคาะเรื่องงบประมาณมา และโครงการนี้จะจัดทำโดยเอกชนเป็นหลัก และร่วมกับหน่วยงานทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเรื่องสถานที่ กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบเรื่องเนื้อหา กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะต้องสรุปข้อมูลบางข้อมูลที่ทำให้การลงพื้นที่แต่ละครั้งได้ประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามนายกฯอาจจะไม่ลงด้วยตัวเองทุกจังหวัด แต่จะมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ที่เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องโครงการพื้นฐานจะลงไปทุกจังหวัด
อีกด้านหนึ่งที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สร้างภาพด้วยการจัดโรดโชว์ชี้แจง พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาระบบโครงพื้นฐานด้านคมนาคม วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี การบอกว่าจะเกิดการทุจริตนั้น ทั้งที่โครงการยังไม่เกิด ก็เป็นการกล่าวหาด้วยจินตนาการ ปราศจากข้อเท็จจริง แต่ต้องขอบคุณฝ่ายค้านที่ให้ความร่วมมืออภิปรายในเนื้อหา ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
ด้าน นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวยืนยันว่า การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 แต่เป็นการตรากฎหมายการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเงินของแผ่นดิน ตามมาตรา 169 แต่เป็น พ.ร.บ.ทีเกี่ยวกับการกู้เงินมาใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์
“ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติออก พ.ร.บ.และ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฉบับละ 4 แสนล้านบาท ภายใต้ชื่อโครงการไทยเข็มแข็ง ซึ่งเป็นการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 เช่นเดียวกัน เหตุผลดังกล่าวจึงย้ำว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ” นายพิชิต กล่าว
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกหนังสือด่วนมาก ที่ สผ 0014/ผ 115 นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ครั้งที่ 12 เป็นพิเศษ ในวันที่ 24 ก.ย. 2556 เวลา 14.00 น.เพื่อพิจารณารับทราบรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีที่หนึ่ง (วันที่ 23 ส.ค. 2554 ถึง 23 ส.ค. 2555) ที่ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญนิติบัญญัติ วันที่ 18 เม.ย. 2556
โดยรายงานฉบับดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2555 โดยมีรายละเอียดทั้งหมด 225 หน้า และแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 ผลการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน และส่วนที่ 2 ผลการดำเนินการตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มี 9 แนวนโยบาย ได้แก่ 1.แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ 2.แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3.แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม 4.แนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรม และ 5.แนวนโยบายด้านการต่างประเทศ 6.แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ 7. แนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 8. แนวนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญา และพลังงาน และ 9.แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน