xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านจ้องถล่มกู้ 2 ล้านล้าน ซัดปมก่อหนี้-หมกเม็ด-ขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ผ่าประเด็นร้อน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่เคาะกันมาแล้วว่าจะนัดประชุมกัน 19-20 ก.ย.นี้

คาดว่าต้องเข้มข้น ดุเดือด ร้อนแรงแน่นอน

เหตุที่ประเมินว่าน่าจะเป็นอีกแมตช์ประชุมสภาฯ ที่จะร้อนแรง เพราะเวลานี้เห็นได้ชัดว่า วิปรัฐบาล-ส.ส.เพื่อไทย ชักเสพติดอาการขอปิดอภิปรายกันไปหมดแล้ว หลังช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.รัฐบาล จัดการปิดปากไม่ให้สมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายค้าน และส.ว.อภิปรายร่างแก้ไข รธน. เรื่องที่มาสมาชิกวุฒิสภา และเรื่องปัญหายางพาราตกต่ำ แล้วปรากฏว่าได้ผล ทำให้วิปรัฐบาลสามารถร่นเวลาการประชุมได้แบบเห็นผลทันที

ไม่งั้นป่านนี้ร่างแก้ไข รธน.ไม่น่าจะเสร็จเรียบร้อยโรงเรียนทักษิณ

เมื่อเห็นว่าวิธีนี้ใช้ได้ดี ฝ่ายเพื่อไทยก็เลยออกมาตีกันไว้แล้ว ทั้งจากวิปรัฐบาล และส.ส.เพื่อไทย อย่าง อำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ที่บอกจะใช้วิธี “ปิดปาก-เสนอปิดอภิปราย” ในช่วงการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณา กม.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท หากวิปเห็นว่าอภิปรายยืดเยื้อ ก็จะส่งซิกให้ ส.ส.เพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายในแต่ละมาตราทันที แบบนี้มีหรือ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จะยอมง่ายๆ

สำหรับการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ แตกต่างจากการแก้ไข รธน. เพราะเรื่องแก้รธน. เป็นเรื่องของรัฐสภา-สมาชิกวุฒิสภาล้วนๆ แต่เรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรง จึงทำให้ต้องเตรียมการรับมือค่อนข้างหนัก แม้จะเป็นการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ไม่ใช่วาระแรก แต่เนื้อหาการอภิปราย ก็ยังสามารถอภิปรายลงรายละเอียดในแต่ละมาตราที่โยงไปถึงการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ทำโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ของรรัฐบาลได้

ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นร่าง พ.ร.บ.สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หมายมั่นปั้นมือไว้กับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาก เพราะหาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินไปทำโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ โดยเฉพาะการคมนาคม ที่สามารถนำไปใช้หาเสียงคุยเป็นผลงานได้สบาย

ส่วนเรื่องเม็ดเงินจะตกหล่นข้างทางให้กับใครบ้าง อันนี้ก็รู้ๆ กันอยู่

ดังนั้น แม้จะเป็นการอภิปรายในวาระ 2 และลงมติเลยในวาระ 3 แต่รัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือมาให้พร้อม โดยเฉพาะสองรัฐมนตรีคนสำคัญที่เป็นกรรมาธิการอยู่ด้วยคือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ซึ่งแม้จะเป็นที่ปรึกษา กมธ. แต่ก็มีบทบาทสูงใน กมธ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

ขณะที่ก็มีข่าวว่า ทักษิณและยิ่งลักษณ์ รวมถึงแกนนำเพื่อไทยรู้ดีว่า รอบนี้ประชาธิปัตย์จัดพวก ส.ส.ที่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ และพวกที่เป็น กมธ.เสียงข้างน้อยในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ใช้สิทธิอภิปรายกันให้เต็มที่ ทำให้มีแนวโน้ม กิตติรัตน์-ชัชชาติ หนักแน่

จึงมีข่าวว่ามีการประสานไปยัง พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูเรื่องกฎหมายให้กับรัฐบาล และ วราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คอยทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ฝั่งรัฐบาลในการเตรียมรับมือการอภิปรายของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในสภาฯให้ดี และยังมีกระแสข่าวว่า มีการสั่งการไปยังกรรมาธิการ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ดังกล่าวของเพื่อไทย ให้เตรียมพร้อมในการชี้แจงคำอภิปรายต่างๆ ของส.ส.ประชาธิปัตย์ให้ดี โดยสั่งให้มีการจัดเตรียมข้อมูล-เอกสารต่างๆ ให้พร้อม

คอยประเมินว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่จะเป็นตัวหลักในการอภิปราย จะอภิปรายในประเด็นไหนเป็นพิเศษ ฝ่ายค้านได้ข้อมูลหรือเอกสารสำคัญอะไรไปบ้างและพวกกมธ.เสียงข้างน้อย รวมถึงพวกส.ส.ที่ขอสงวนคำแปรญัตติ ติดใจสงสัยเรื่องอะไรมากเป็นพิเศษ ทั้งหมดก็เพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการรับมือ ทางพรรคเพื่อไทยก็หวังพึ่งพวก กมธ.เหล่านี้มากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุว่าการเป็นกรรมาธิการก็ต้องมีข้อมูลต่างๆ รู้เรื่องเป็นอย่างดีก็ต้องช่วยรัฐบาลด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ ส.ส.ฝ่ายค้านไล่ถล่มเพียงฝ่ายเดียว

ข่าวบอกว่า ขาใหญ่ในเพื่อไทยได้กำชับมายัง ส.ส.เพื่อไทย ที่เป็น กมธ.ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าหากเห็นว่าคำอภิปรายของฝ่ายค้านตรงไหนที่โต้แย้งได้ ก็ให้รีบลุกขึ้นชี้แจงทันที หรือหากไม่ถนัดโต้ ก็ให้ส่งข้อมูลไปให้ทีม ส.ส.ของเพื่อไทยใช้สิทธิตอบโต้และช่วยรัฐบาลชี้แจงเพื่อจะได้เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาล

เพราะเพื่อไทยวิเคราะห์ว่าการประชุมสภาฯพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ฝ่ายค้านคงทุบหนักแน่ ยิ่งมีอารมณ์สะสมหลายเรื่องก่อนหน้านี้ทั้งเรื่องแก้ไขรธน.-เรื่องไม่พอใจที่เพื่อไทยส่งส.ส.ของพรรคมาเสนอชิงปิดอภิปรายร่างแก้ไข รธน.หลายต่อหลายครั้ง เมื่อมีโอกาสสำคัญแบบนี้ประชาธิปัตย์ไม่พลาดปล่อยโอกาสทองในการซัดรัฐบาลแน่นอน

เพียงแต่จังหวะรูปแบบการอภิปรายของประชาธิปัตย์ ให้ประเมินแล้วคงต้องทำการบ้านมาพอสมควร จะมาใช้สำนวนโวหารตีกินไม่ได้ ไม่เช่นนั้นประชาธิปัตย์ ก็เสียเอง เนื่องจากการจะอภิปรายให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่าทำไมประชาธิปัตย์ถึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลบอกว่าจะนำความเจริญมาสู่ประเทศ

ประชาธิปัตย์ก็รู้เรื่องนี้ดี จึงต้องทำการบ้านพอสมควรในการอภิปรายในการชี้ให้ประชาชนเห็นว่า เบื้องหลังหรือสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอกที่เป็นข้อเสีย-ข้อสงสัยของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีพอสมควร เช่น รัฐบาลสามารถทำโครงการต่างๆ อย่างที่รัฐบาลอ้างได้จริงหรือไม่ ทำแล้วคุ้มค่ากับการลงทุนแค่ไหน เช่น ทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงวิ่งไปยังจุดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเช่น เชียงใหม่ แล้วราคาค่าโดยสารจะแตกต่างจากสายการบินต้นทุนต่ำอย่างไร รวมถึงก่อนที่รัฐบาลจะวางแผนงานสร้างโครงการต่างๆ แล้วมีการเสนอขอกู้เงินมาทำโครงการ ได้มีการศึกษารายละเอียดของโครงการต่างๆ เช่น ผลกระทบกับชุมชนหรือสภาพแวดล้อมของชุมชนต่างๆ ดีแล้วหรือยัง

และเป็นการทำโครงการที่จะมี “เงินทอน-สินบน” อย่างที่ผู้คนวิจารณ์กันหรือไม่ การอภิปรายเรื่องพวกนี้ประชาธิปัตย์ ก็ต้องมีข้อมูลหนักแน่น จะมาพูดลอยๆ คงไม่ได้

โดยทางประชาธิปัตย์ก็จะมีการคุยกันในที่ประชุมพรรคอีกครั้งในสัปดาห์นี้ เพื่อกำหนดประเด็นและตัวผู้อภิปรายที่ เบื้องต้นเซ็ตทีมกันไว้แล้วว่า ตัวหลักในการอภิปรายจะประกอบด้วย อาทิเช่น กรณ์ จาติกวณิช และ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เน้นอภิปรายเรื่องการใช้จ่ายเงิน และวินัยการเงินการคลัง ขณะที่ภาพรวมการก่อสร้างโครงการต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง จะให้สามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. รวมถึง เจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา และอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม. ทำหน้าที่คุมภาพรวม

เบื้องต้นฝ่ายประชาธิปัตย์บอกว่า ประเด็นการอภิปรายก็จะมุ่งในภาพรวมอย่างที่บอกไว้ข้างต้น แต่จะเน้นอภิปรายพุ่งไปว่าการดำเนินการของรัฐบาลตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่โปร่งใส สร้างภาระหนี้สินและงบประมาณให้กับประเทศและประชาชน ทั้งที่รัฐบาลสามารถใช้วิธีการอื่นในการหางบมาทำ เช่น ทำผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ในลักษณะงบผูกพันข้ามปีระยะยาวก็ได้ อีกทั้งจะมุ่งอภิปรายว่าการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้ างหาผู้รับผิดชอบโครงการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะทำด้วยวิธีพิเศษเป็นการหลีกเลี่ยงวิธีปกติอันทำให้ยากต่อการตรวจสอบขั้นตอนการประมูลโครงการ

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการอภิปรายย้ำปมเดิมว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวสุ่มเสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ที่เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายที่เกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ยิ่งเมื่อ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรธน. ออกมาสำทับปมนี้ ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายรัฐบาลน่าจะกังวลไม่มากก็น้อย

เส้นทางความเป็นไปของ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท รัฐบาลไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ แต่คงไปหนักใจในชั้นศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า ว่าจะฉลุยหรือถูกตีตก
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
กำลังโหลดความคิดเห็น