xs
xsm
sm
md
lg

“ปฏิรูปรถเมล์ระบบขนส่งสาธารณะไทย” ไม่ต้องเอาอย่างใคร แค่จริงใจ-ไร้ทุจริตก็พอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
"รถเมล์" เป็นระบบขนส่งสาธารณะหลักของกทม.แต่ที่่ผ่านมาไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง ทำให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประสบปัญหาขาดทุนมาเป็นเวลานาน ส่วนรถร่วมบริการขสมก.ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อมีกำไรบริการระบบรถเมล์ของไทยจึงด้อยคุณภาพอย่างที่เห็น นโยบายของรัฐบาลทุกชุดต้องการแก้ปัญหาขสมก.โดยมุ่งไปที่การซื้อหรือเช่ารถเมล์ใหม่เข่ามาทดแทนรถเก่าเพื่อเปลี่ยนไปใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันดีเซล โดยอ้างว่าจะทำให้ต้นทุนลดลง และขสมก.จะไม่ขาดทุน ซึ่งครม."ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จํานวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท และอยู่ระหว่างจัดทำ TOR ประกวดราคา

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ระบบรถเมล์ของไทยต้องปฎิรูป ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพบริการแล้วยังแก้ปัญหาการจราจรได้อีกด้วย โดยจะต้องมีระบบตั๋วร่วม (Common Ticket) เข้ามาบริหารจัดการเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งโหมดอื่น ทำให้มีความสะดวก ปลอดภัย ที่สำคัญต้นทุนการบริการลดลงเพราะระบบตั๋วร่วมจะลดการใช้เงินสดจ่ายค่าโดยสารลงเช่น ซึ่งทุกวันนี้ ทางด่วนมีค่าใช้จ่ายในการนับเงินสดประมาณ 10% ของรายได้ ซี่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาการใช้ระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งสาธารณะในไทยระยะแรก มีบริษัทที่ปรึกษาจากเกาหลีมาร่วมทำการศึกษาด้วย สำหรับระยะที่ 2 คาดว่าประมาณต้นปี 2557 จะสามารถเปิดประมูลระบบตั๋วร่วมได้โดยจะมีการเชิญทูตจาก 54 ประเทศประจำประเทศไทยเพื่อเสนอให้เอกชนในแต่ละประเทศที่สนใจมาร่วมประมูล

โดยการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถเมล์ของสาธารณรัฐเกาหลีถือว่ามีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะเมื่อ10 ปีก่อนกรุงโซลของเกาหลีมีปัญหาจราจรติดขัดและระบบรถเมล์ที่ไม่ต่างกับไทยในขณะนี้ แต่หลังจากจัดระบบเดินรถใหม่ ให้มีบัสเลน นำระบบตั๋วร่วม ระบบ GPS กล้อง CCTV เข้ามาบริหารการเดินรถ กำหนดระยะห่างรถแต่ละคันไม่ให้ถี่เกินไป ส่วนป้ายรถเมล์จะมีข้อมูลบอกให้รู้ว่ารถคันต่อไปจะมาถึงภายในกี่นาที เป็นต้น

"บัสเลนเราเคยมีแต่การปฏิบัติไม่เคร่งครัด ต่อจากนี้จะต้องจริงจัง อาจจะเริ่มบางถนนเพื่อเป็นตัวอย่างก่อน ส่วนระบบรถเมล์ต้องดีก่อน ขสมก.มีรถNGV ใหม่ ต้องเข้มแข็งก่อนส่วนรถร่วมฯจะต้องดึงเข้าระบบและอนาคตคือ จ้างวิ่งแทนสัมปทาน ซึ่งเหมือนรูปแบบของรถร่วมฯเกาหลีเมื่อก่อนมีหลายบริษัทมาก แข่งกันวิ่งรับผู้โดยสาร สุดท้ายไม่รอดต้องปรับมาจ้างวิ่งรัฐจ่ายค่าจ้างให้อยู่ได้ โดยเอกชนต้องมีรถและบริการตามมาตรฐานที่กำหนด มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ถ้าทำไม่ได้ไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะรัฐเก็บค่าโดยสาร ดังนั้นเชื่อว่าทหากไทยมีระบบพร้อม มีทางเลือกการใช้รถส่วนตัวจะลดลงแก้ปัญหาจราจรและยกระดับบริการขนส่งสาธารณะได้"

สำหรับการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะของกรุงโซล ประเทศเกาหลีนั้น นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กล่าวหลังจาก เยี่ยมชมศูนย์ควบคุมการจราจรของโซลซิตี้ว่า กรุงโซลได้เริ่มวางแผนแก้ปัญหารถติดตั้งแต่ ปี 2000 และปฏิรูประบบขนส่งมวลชนตั้งแต่ปี 2004 เริ่มจากรถเมล์ควบคู่กับระบบรถไฟฟ้าเพราะตอนนั้นบริการรถเมล์ที่เกาหลีมีปัญหาเหมือนประเทศไทย ที่รถร่วมเอกชนต้องประสบปัญหากับการแข่งขันอย่างรุนแรงมีการแย่งผู้โดยสารจนเกิดอุบัติเหตุทางเทศบาลกรุงโซลได้นำบริษัทเดินรถเมล์เอกชนเข้ามาอยู่ในความดูแล โดยจ่ายค่าจ้างวิ่งให้กับเอกชนตามระยะทางทุกรายมีรายได้และกำไรที่เหมาะสม โดยไม่ต้องวิ่งแข่งกัน การเดินรถอย่างเป็นระเบียบมากขึ้นอุบัติเหตุลดลง

ทุกวันนีื้"โซลซิตี้"เป็นศูนย์กลางควบคุมการเดินรถ โดยมีระบบเชื่อมกับ 66 บริษัทเอกชน รัฐเก็บค่าโดยสารผ่าน Central Clearing House โดยมีระบบตั๋วร่วม "T- Money" ที่มีการใช้บริการกับรถเมล์ประมาณ 6 ล้านเที่ยวคนต่อวัน (20,000 คัน) กับรถไฟฟ้า 7 ล้านเที่ยวคนต่อวันและกับรถแท็กซี่ 4 แสนเที่ยวคนต่อวัน (120,000 คัน) โดยสร้างแรงจูงใจเช่น หากออกจากระบบรถไฟฟ้ามาต่อรถเมล์ภายใน 30 นาทีจะไม่ต้องเสียค่ารถเมล์ เป็นต้น นอกจากนี้ T-Money ยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับร้านค้าอีก 80,000 แห่งและสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ

โดยทุกวันนี้มีผู้ถือบัตร T-Money ประมาณ 27 ล้านใบ มีการใช้งานประมาณ 50 ล้าน Transection ต่อวัน โดยใช้กับระบบรถเมล์ 98.3% รถไฟฟ้า 100% แท็กซี่ 53.5% โดยมีบริษัท เกาหลี สมาร์ท การ์ด จำกัด เป็นผู้พัฒนาและดูแลระบบ ซึ่งมีรัฐบาลกรุงโซล ถือหุ้น 35% แอลจี กรุ๊ป 31.85% บริษัทเครดิตการ์ด 15.73% ฮารด์แวน์โพไวเดอร์ 10.18% อื่นๆ 7.24% ทำให้สามารถเชื่อมกับบัตรเครดิตได้ถึง 14 ธนาคารซึ่งมีผู้ใช้งานผ่านบัตรเครดิตถึง17 ล้านใบ โดยรัฐบาลออกค่าลงทุนติดตั้งเครื่องอ่านบัตร 100% ในรถเมล์และรถไฟฟ้า ส่วนแท็กซี่ ออก50% ที่เหลือเจ้าของรถลงทุนเอง โดยรายได้บริษัทตั๋วร่วม T-Money มากจากส่วนแบ่งค่าโดยสารรถเมล์รถไฟฟ้า 50% จากแท็กซี่ 15% อีก 35% มาจากส่วนของบัตรเครดิตต่างๆ โดยใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 3,000 ล้านบาท)

ส่วนระบบไอที มีการพัฒนาให้สามารถตรวจสอบเส้นทางและสภาพจราจรผ่านมือถือได้ รวมถึงพยากรณ์สภาพจราจรได้ล่วงหน้า24ชม.อีกด้วย โดยใช้ระบบ GPS ติดที่รถเมง์ทุกคัน ที่ป้ายรถเมล์ และ ติด CCTV ที่ถนนอย่างครอบคลุม ทำให้จัดการเดินรถได้มีประสิทธิภาพ ศูนย์ควบคุมและคนขับจะรู้ระยะห่างจากคันหน้า ภายในรถมีกล้อง พร้อมระบบบริการสำหรับคนพิการทุกประเภทหน้ารถมีก้องสามารถตรวจสอบรถส่วนตัวที่วิ่งเข้ามาช่องบัสเลนได้ รวมถึงกรณีเกิดอุบัติเหตุ ก็มีภาพเป็นหลักฐานชัดเจน

สำหรับประเทศไทยนั้น นายจิรุตม์กล่าวว่า ต่องปฎิรูปในทิศทางเดียวกับเกาหลีแน่นอน ส่วนรถร่วมฯนั้น เชื่อว่ามีประมาณ 50% ที่ต้องการเข้าระบบโดยเฉพาะที่ขาดทุน ส่วนที่วิ่งแล้วมีกำไรก็อาจไม่อยาก ซึ่งต้องทำความเข้าใจก็เหมือนช่วงแรกของเกาหลี ที่รายไหนมีกำไรไม่อยากเปลี่ยนมาจ้างวิ่ง ส่วนเส้นทางจะต้องจัดให้เหมาะสม ซึ่งเกาหลีจะแบ่งเป็น3 โซนหลัก 1. วิ่งจากศูนย์กลางไปยังชานเมือง 2.วิ่งเชื่อมจุดสำคัญภายในเมือง 3. วิ่งเป็นฟีดเดอร์ ค่าโดยสารตั้งแต่ประมาณ 30 บาท- 90 บาท ส่วนบริษัทเอกชนนอกจากได้รับค่าจ้างตามระยะทางแล้ว ยังมีการจัดอันดับทั้งรายได้ การบริการเพื่อสร้างแรงจูงใจ (incentive) เช่นรายไหนมีกำไรมากที่สุดจะได้เงินพิเศษเพิ่มอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รูปแบบรถเมล์และการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนของกรุงโซลประเทศเกาหลี ไม่ใช่ของใหม่อะไร หลายๆประเทศทำแบบนี้ ใช้ระบบไอที GPS CCTV บัสเลน ตั๋วร่วม... แต่ทำไมทำไม่ได้ซะที ... เพราะรัฐบาลไม่จริงใจ ไม่จริงจัง ใช่หรือไม่ และการแก้ปัญหารถเมล์ รถติด กลายเป็นวลีในการหาเสียง เรียกคะแนนนิยมมากกว่า ทุกวันนี้โครงการซื้อรถเมล์ NGV คันละ 4.5 ล้าน(รถปรับอากาศ) ก็มีแต่รถเปล่าๆ ระบบตั๋วร่วม E-Ticket หรือบริการเสริมสำหรับคนพิการ ไม่มี ต้องรอประมูลกันอีกรอบ ซึ่งคาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนอีกมาก เมื่อจะทำทั้งทีแต่ทำไม่เบ็ดเสร็จ ไม่ครอบคลุม จึงไม่แปลกที่จะถูกมองว่าไม่โปร่งใส เพราะประมูลหลายรอบ ส่วนต่างผลประโยชน์ก็มีหลายครั้งไปด้วย

ส่วนที่ว่ารถร่วมเอกชนจะไม่เข้าร่วมปฏิรูป ถ้าพิจารณาอย่างเป็นธรรม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 ตั้งแต่รัฐบาลนี้เพิ่งเริ่มทำงาน ผู้ประกอบการรถร่วมฯ เคยยื่นหนังสือถึง นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.ขอให้รับพิจารณารถร่วมเอกชนเข้าร่วมเดินรถกับขสมก.ในรูปแบบสัญญาให้บริการเชิงคุณภาพ (PBC) หรือจ้างวิ่งเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหารถเมล์ใหม่และการปรับปรุง 155 เส้นทาง และทำหนังสือถึงนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธุ์ 2555 และถึงนายกิตติรัตน ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ และได้ทำหนังสือสอบถามความคืบหน้าแต่ไม่มีคำตอบจากภาครัฐ

แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมา รถร่วมฯ เข้าใจปัญหาและรู้แนวทางแก้ไขจึงแสดงความจำนงค์ขอเข้าร่วมปรับปรุง โดยพร้อมเปลี่ยนไปรับจ้างวิ่งมาตั้งนานแล้ว ... ดังนั้นตอนนี้ ไม่มีอะไรติดขัด ไม่มีใครคัดค้านเลย อยู่ที่ภาครัฐเองต่างหากที่จะก้าวผ่านความไม่โปร่งใสของตัวเองไปได้หรือไม่...
กำลังโหลดความคิดเห็น