xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ขสมก.ลดค่าขา-ยืดชำระหนี้รถร่วมฯ ช่วยลดขาดทุนได้ไม่ต้องขึ้นค่าโดยสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคมและประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ประธานบอร์ด ขสมก.ยันมติยืดเวลาชำระหนี้และลดค่าขาให้รถร่วมฯ ขสมก.เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนขาดทุนตามนโยบาย แม้ทำ ขสมก.รายได้ลดแต่ดีกว่าให้ขึ้นค่าโดยสาร ด้านรถร่วมฯ ขสมก.ชี้เหตุขาดทุนถูกรถเมล์ฟรีและรถเถื่อนวิ่งทับเส้นทาง ร้องขอขึ้นราคาเพราะต้นทุนจริงกว่า 9 บาทแล้ว รอฟังคำตอบชัดๆ “ชัชชาติ” อีกครั้ง โต้สหภาพฯ ขสมก.ไม่เห็นใจเอกชนเพราะ ขสมก.มีภาษีมาชดเชย

นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า จากนโยบายที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ ขสมก.หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนที่ประสบภาวะขาดทุนจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นนั้น ซึ่งที่ประชุมบอร์ด ขสมก.เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมได้มีมติเห็นชอบในการขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ค่าตอบแทนการเดินรถของรถร่วมเอกชนซึ่งค้างอยู่ประมาณ 200-300 ล้านบาทออกไปอีก 3 ปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 15% เหลือ 7.5% โดยให้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดให้เรียบร้อยภายใน 5 ปี ซึ่งสามารถแบ่งชำระเป็น 60 งวดได้

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ปรับลดค่าตอบแทนตามสัญญา (ค่าขา) รถโดยสารธรรมดา จาก 35 บาทต่อคันต่อวันเหลือ 15 บาทต่อคันต่อวัน รถปรับอากาศ จาก 60 บาทต่อคันต่อวันเหลือ 30 บาทต่อคันต่อวัน เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2556-30 พฤศจิกายน 2559 พร้อมกันนี้ได้แก้สัญญาโดยขยายระยะเวลาที่ให้รถร่วมฯ ขสมก.จัดหารถใหม่มาให้บริการแทนรถที่มีสภาพเก่าออกไปอีก 2 ปี ทั้งนี้ ในส่วนของเส้นทางเดินรถของเอกชนนั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดเข้าระบบร่วมกับรถ NGV ของ ขสมก. และในอนาคตเมื่อรถร่วมเอกชนฯ เปลี่ยนเป็นรถใหม่จะใช้ระบบตั๋วร่วม E-Ticket ร่วมกันต่อไปได้อีกด้วย

“แนวทางที่ช่วยเหลือรถร่วมฯ อยู่ในขอบเขตอำนาจของ ขสมก. และต้องยอมรับว่าการลดค่าขาจะกระทบต่อรายได้ ขสมก.บ้าง แต่เมื่อดูตัวเลขแล้วก็เห็นว่าเป็นภาระที่ยังพอรับได้ ส่วนการขึ้นค่าโดยสารตามที่ผู้ประกอบการเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะพิจารณา” นายสมชัยกล่าว

นายโอภาส เพชรมุณี ผอ.ขสมก. กล่าวว่า ขสมก.เห็นว่าข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารของรถร่วมฯ จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงปรับลดค่าขาและขยายเวลาชำระหนี้ แม้จะกระทบต่อรายได้ของ ขสมก.บ้าง ซึ่งจะทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้รับทราบต่อไป โดยปัจจุบัน ขสมก.มีผลการดำเนินงานขาดทุนเฉลี่ยเดือนละประมาณ 400 ล้านบาท โดยเป็นค่าดอกเบี้ยประมาณ 220 ล้านบาท ที่เหลือขาดทุนจากภาระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ขสมก.ยังไม่มีการแจ้งมติบอร์ดอย่างเป็นทางการมายังผู้ประกอบการ ซึ่งกรณีที่สหภาพฯ ขสมก.ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติการปรับลดค่าขาและขยายเวลาชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการนั้น ต้องบอกว่าผู้ประกอบการขาดทุนเพราะมีรถเมล์ฟรีวิ่งทับเส้นทาง ซึ่ง ขสมก.ไม่รู้สึกเดือดร้อนเพราะวิ่งฟรีโดยรัฐบาลใช้ภาษีมาชดเชยให้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังถูกรถผิดกฎหมายวิ่งทับเส้นทาง และอัตราค่าโดยสารที่จัดเก็บ 8 บาทต่อคน (รถร้อน) ต่ำกว่าต้นทุนจริงที่ 9.16 บาทซึ่ง ขบ.เคยศึกษาไว้ชัดเจน โดยปัจจุบันรถร้อนมีต้นทุนเฉลี่ย 5,000 บาทต่อคันต่อวัน แต่มีรายได้เพียง 4,000 บาทต่อคันต่อวันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือที่ออกมานั้นไม่ตรงกับที่ผู้ประกอบการเรียกร้อง คือ ขอยกเว้นค่าขาเพื่อลดภาระการขาดทุน ซึ่งอัตรา 15 บาทต่อคันต่อวันอาจจะมองว่าน้อยแต่เมื่อเทียบกับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงผู้ประกอบการยังขาดทุนอยู่ดี ส่วนหนี้เก่าแม้จะให้เวลาพักชำระหนี้แต่มีการคิดดอกเบี้ย ซึ่งก็เป็นภาระผู้ประกอบการเหมือนเดิม ดังนั้น ผู้ประกอบการจะรอคำตอบอย่างเป็นทางการจาก รมว.คมนาคมซึ่งรับปากว่าจะหารือกับผู้ประกอบการหลังจากไปยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้เลยกำหนดแล้วด้วย โดยข้อเรียกร้องหลักคือการปรับค่าโดยสารหรือการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดทุน และแนวทางที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องมากขึ้น เช่น การหากองทุนมาให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น