เปิด TOR ประมูลรถเมล์ NGV 3,183 คันของ ขสมก. วงเงิน 1.38 หมื่นล้านบาท ผู้ผลิตรถโดยสารในประเทศเผยล็อกสเปกแบ่งเค้กผลประโยชน์ให้ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นและจีนเบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชี้ราคากลางสูง ทำให้มีส่วนต่างคันละกว่าล้านบาท ตั้งข้อสังเกต “คมนาคม” ตั้งเป็นโครงการนำร่อง ประมูลโปร่งใส ดึงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ร่วมตรวจสอบ แค่หลอกลวง
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ประกาศร่างเงื่อนไขการประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ โครงการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จํานวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท รวมค่าซ่อมบำรุง 10 ปี วงเงินประมาณ 13,858.408 ล้านบาท มูลค่าทั้งโครงการ 27,020.608 ล้านบาท ผ่านเว็บไซต์ ขสมก. www.bmta.co.th/th/auction.php และเว็บไซต์กรมบัญชีกลางครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความเห็นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม
แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตรถโดยสารภายในประเทศกล่าวว่า ร่าง TOR รถเมล์ NGV 3,183 คันที่ ขสมก.ประกาศนั้นเป็นไปตามความคาดหมายที่ผู้ประกอบการต่อรถโดยสารในประเทศกังวล โดยมีการแบ่งผลประโยชน์ในแต่ละกลุ่มไว้แล้วตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทรถรายใหญ่จากญี่ปุ่นจะได้รถร้อน 1,659 คันไปทั้งหมด ส่วนรถปรับอากาศ 1,524 คันจะเป็นของค่ายรถจีน โดยบริษัทรถค่ายญี่ปุ่นได้เข้าติดต่ออู่ต่อรถในไทยให้ทำการดัดแปลงแชสซีรถบรรทุก CNG เป็นรถโดยสาร ซึ่งมีข้อน่ากังวลที่ศูนย์กลางล้อหน้าถึงศูนย์กลางล้อหลังของรถบรรทุกยาวเพียง 5.53 เมตร ขณะที่รถโดยสารต้องยาวเกิน 6 เมตรเพื่อสมรรถนะในการทรงตัว ซึ่งค่ายรถดังกล่าวได้ดัดแปลงให้ที่นั่งคนขับยื่นออกไปข้างหน้า 1.09 เมตรเพื่อให้ตรงตามสเปกและความยาวตัวถังที่กำหนดไว้ที่ 12 เมตร
ส่วนราคากลางที่กำหนดรถร้อน 3.8 ล้านบาท/คัน และรถปรับอากาศ 4.5 ล้านบาท/คันนั้น หากแยกเป็นรายการ รถร้อนแชสซีต้นทุนจริงอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท/คัน ค่าต่อตัวถังจะอยู่ที่ประมาณ 9.5 แสนบาท-1.3 ล้านบาท/คัน ขึ้นอยู่กับการเจรจากับอู่ต่อตัวถัง ราคารวมไม่เกิน 2.8 ล้านบาท/คัน ส่วนรถปรับอากาศ ต้นทุนแชสซี 1.5 ล้านบาท/คันเท่ากัน ค่าต่อตัวถังไม่เกิน 1.3 ล้านบาท บวกกับค่าแอร์ประมาณ 4 แสนบาท/คัน รวมต้นทุนอยู่ที่ 3.2 ล้านบาท/คัน ทำให้มีส่วนต่างต่อคันสูงเป็นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการล็อกสเปกไว้สำหรับการประมูลติดตั้งระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket ) ป้ายอัจฉริยะต่างๆ บนตัวรถในอนาคตอีกด้วย
โดยกลุ่มผู้ประกอบการคนไทยเห็นว่าการประมูลดังกล่าวมีการเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ส่งเสริมผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศอย่างเต็มที่เพราะถือว่าเป็นโครงการใหญ่ที่เกิดในรอบ 20 ปี นอกจากนี้ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการใช้บริการของประชาชนได้ จึงอยากให้ผู้รับผิดชบตรวจสอบให้มากกว่านี้ เพราะการประมูลจัดซื้อรถเมล์ NGV ยังเป็นโครงการนำร่องที่กระทรวงคมนาคมได้ลงนามกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในการเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสด้วย
“ในกลุ่มผู้ผลิตรถโดยสารในประเทศติดตามเรื่องนี้มานาน และได้เห็นร่าง TOR มาก่อนประกาศแล้ว ซึ่งได้เคยยื่นหนังสือต่อพลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล ขสมก. ขอให้พิจารณาเงื่อนไข TOR ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อตัวถังรถยนต์โดยสารในประเทศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สำคัญ ถ้าเป็นไปตามที่ล็อกสเปกไว้พบว่าคนพิการจะไม่สามารถใช้รถร้อนได้ เพราะรถต้นแบบที่ออกมาก่อนหน้านี้แชสซียกสูงถึง 70 เซนติเมตร โดยอ้างว่าเพื่อหนีน้ำท่วม” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับร่าง TOR โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารธรรมดา จำนวน 1,659 คัน รถโดยสารปรับอากาศจำนวน 1,524 คัน ซึ่งผู้ประสงค์เสนอราคาสามารถเสนอราคาในรายการหนึ่งรายการใดหรือจะเสนอราคาทั้ง 8 รายการก็ได้ โดยคุณสมบัติจะต้องเป็นผู้มีอาชีพและมีวัตถุประสงค์ในการขายและซ่อมบำรุง, ต้องเป็นนิติบุคคลไทย หรือกลุ่มกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ที่ร่วมทุนระหว่างนิติบุคคลไทยด้วยกัน หรือนิติบุคคลไทยกับนิติบุคคลต่างประเทศหรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน (Consortium) ที่ร่วมทุนระหว่างนิติบุคคลไทยด้วยกัน หรือนิติบุคคลไทยกับนิติบุคคลต่างประเทศ โดยจะเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลในกลุ่มกิจการร่วมค้าหรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานในภายหลังไม่ได้ มีทุนจดทะเบียน (ชำระเต็มจำนวน) ไม่น้อยกว่า 10% ของวงเงินที่จะประมูลในแต่ละรายการ ต้องมีผลงานการจำหน่ายรถโดยสารขนาด 12 เมตรให้แก่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนในประเทศไทย
หลักเกณฑ์พิจารณาจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิครวมกันไม่ต่ำกว่า 80% และได้คะแนนในแต่ละหัวข้อไม่ต่ำกว่า 50% จึงจะได้รับสิทธิเสนอราคา ต้องส่งมอบรถโดยสารครบทั้งหมดภายใน 18 เดือน โดยส่งมอบงวดที่ 1 ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ส่งมอบทุกเดือน โดย ขสมก.จะจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้ชนะการประกวดราคา 15% ของวงเงินสัญญา โดยต้องรับประกันการชำรุดเสียหายจากการใช้งานของรถโดยสารไม่น้อยกว่า 3 ปี หากไม่ส่งมอบรถโดยสารตามที่กำหนดจะถูกปรับเป็นรายคันต่อวันตามจำนวนรถที่ส่งไม่ครบในแต่ละงวดในอัตรา 0.20% ของวงเงิน และปรับค่าสูญเสียโอกาสในการหารายได้สำหรับรถโดยสารแบบธรรมดาจำนวน 8,000 บาทต่อคันต่อวัน และรถโดยสารปรับอากาศจำนวน 10,000 บาทต่อคันต่อวัน จนถึงวันรับมอบรถเสร็จ