xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลลับๆ ล่อๆ เมล์ ขสมก.ค้างท่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
รายงานการเมือง

อีกกี่ชาติจะได้ใช้!! ตามอารมณ์เซ็งๆ คนเมืองหลวงที่ยังฝันค้างถึงอภิมหาโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ขายฝันของแต่ละรัฐบาลที่มาบริหารประเทศ อย่างโครงการจัดซื้อรถเมล์เพื่อแก้ไขปัญหารถติด และสะสางหนี้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่วันนี้ยัง “ค้างท่อ” ไม่เป็นรูปเป็นร่างเสียที มัวแต่พูดดีภาพสวยกันอยู่เท่านั้น

เรียกว่าผ่านมาจะครบทศวรรรษอยู่แล้ว แต่คนกรุงยังยืนเมื่อยแข้งเมื่อยขารอรถเมล์เก้ออยู่ที่ป้าย แถมเวลาโบกรถได้หวังจะหายร้อนหายเหนื่อยจากความเมื่อยล้าในแต่ละวันกลับยิ่งต้องทนทุกข์ทรมานหนักกว่าเก่า

เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น สภาพความร้อน ความเก่า และความแออัด ของรถเมล์ในปัจจุบันยังบั่นทอนผู้โดยสารที่ต้องแบกต้องพกความเครียดในแต่ละวันให้ยิ่งเสื่อมทรุดลง

เรื่องนี้ไม่ต้องโทษอาถรรพ์ “รถเมล์ไทย” ให้เสียเวล่ำเวลา แต่ต้องโทษความละโมบโลภมากของนักการเมือง และเกมการเมืองบ้านเราที่เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้คนไทยได้สุขสบายเสียที

เอาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของความคิดจะซื้อรถเมล์ใหม่ ที่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ และความละโมบของนักการเมืองไทย ย้อนกลับไปจะพบว่า โครงการดังกล่าวถูกจุดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของ “นายใหญ่-ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาในคดีทุจริต ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนาม “เสี่ยเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล"

ในยุคนั้นรัฐบาลไทยรักไทยมีโปรเจ็กต์จะซื้อรถเมล์จำนวนทั้งสิ้น 6,000 คัน โดยมีมูลค่าอภิมหาโคตรแพงกว่าแสนล้านบาท ประหนึ่งซื้อรถเลี่ยมทอง โดยอ้างวัตถุประสงค์สุดแสนจะสวยหรูว่า ต้องการสะสางปัญหาหนี้สินสะสมของ ขสมก. ที่ขาดทุนสะสมกว่า 6 หมื่นล้านบาท

แต่สุดท้ายโครงการติดหล่ม เพราะดันตั้งงบประมาณไว้สูงเกินจริงจนคนจับได้ไล่ทัน!!

ต่อมาในยุค “นอมินีเวอร์ชัน 1.0” ของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โดย “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น หวังจะเอาฝันมาปั้นต่อ โดยใช้มุกเดิมคือ หวังจะสะสางหนี้ของ ขสมก. ให้สำเร็จจงได้

และเข้าอีหรอบเดิมคือ ถูกต่อต้านอย่างหนักด้วยเหตุผลคล้ายยุคแรก ทั้งตัวโครงการไม่เหมาะสม ราคาแพงเกินจริง รวมทั้งตรรกะ “ซื้อดีกว่าเช่า” หรือ “เช่าดีกว่าซื้อ” แต่รัฐบาลก็ยังพยายามจะสีข้างไปให้ได้ ด้วยการตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของ ขสมก.

ผลออกมาปรากฎว่า ต้องลดจำนวนรถเหลือ 4,000 คัน และให้มีมูลค่าเหลือ 67,000 ล้านบาท ทว่าก็ยังไปไม่รอด เพราะถูกยื้อยุดฉุดกระชากไม่ยอมให้ผ่านไปง่าย ด้วยการตั้งข้อสังเกตหลากหลายข้อ ทั้งวิธีการจัดหาจะใช้วิธีอะไรระหว่าง “ซื้อ” หรือ “เช่า”

สุดท้ายโครงการไปจอดตรงข้อครหาเรื่องการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส และเอื้อไปทางพวกพ้อง!!

กระทั่งมาถึงรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่มีการผสมผสานกันของหลายพรรคหลายพวก ก็ยังมีการไปขุดโครงการนี้ขึ้นมาหากิน โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมภายใต้การกำกับดูแลของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ส่ง “ซาเล้ง-โสภณ ซารัมย์” มาทำหน้าที่เสนาบดีกำกับการแสดง

ที่รอบนี้อุตส่าห์วางแผนกันรอบคอบด้วยการมอบหมายให้บอร์ดของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีเพื่อตอบโจทย์ที่ยังค้างคาระหว่าง “เช่า” กับ “ซื้อ” อันไหนดีกว่ากันมาให้เสร็จสรรพ

แต่ก็ไปไม่รอดด้วยคนกันเอง เมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำรัฐบาลเตะตัดขาไม่ให้ผ่าน ชนิดชงมาที่ ครม.กี่รอบๆ ก็ตีกลีบบอกมีปัญหาทุกครั้ง

จนเป็นเหตุให้เกิดความหมางใจกันออกสื่อบ่อยครั้งระหว่าง “ค่ายสีฟ้า” กับ “ค่ายสีน้ำเงิน”

เพราะเรื่องของเรื่อง ราคาเช่าที่ “รมว.ซาเล้ง” เสนอเข้ามา มันแพงแบบไม่น่าเชื่อ อีกทั้งยังมีค่าซ่อมบำรุงที่มีพิรุธ ชนิดที่ใครเห็นก็ร้อง “ยี้” รู้ทันว่านี่คือการจ้องจะสวาปามชัดๆ

สุดท้ายโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวียุคนั้นเลยกลายเป็น “หมัน”

กระทั่งถึงรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มีเจ้ากระทรวงคมนาคมจอมฟิตอย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ดูจะออกตัวแรงเร่งปั้นฝันหวังให้สำเร็จในยุคตัวเองเพื่อแย่งชิงหัวใจคนกรุงจากฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการคลอดมติ ครม. จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 3,183 คัน เพื่อทดแทนรถโดยสารเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซลตามแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ชนิดวงเงินลดฮวบฮาบเหลือแค่ 13,162 ล้านบาท

ยังมามุกเก่าหวังสะสางหนี้ขสมก.เหมือนเดิม แถมวิ่งโกยแต้มกันหน้าดู โดยเฉพาะ “ชัชชาติ” ที่พกพาดีกรีเสนาบดีจอมขยันในยุคนี้ ลงพื้นที่โหนรถเมล์เช็กปัญหาด้วยตัวเอง

แต่เรื่องก็ดูจะยังแล่นไปไม่ถึงไหน มิหนำซ้ำยังติดหล่มอยู่หลายจุด เข้า ครม.กี่ครั้งๆก็มีมติ “ถ่วงเวลา” ให้ไปศึกษาความคุ้มค่าตลอด ซึ่งที่มาที่ไปก็คงมาจากเรื่องการจัดทำทีโออาร์ที่ถูกกระแสโจมตีอย่างหนักว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติที่ทำให้มีผู้เข้าประกวดราคาได้น้อยราย

โดยว่ากันว่ามีการแบ่งผลประโยชน์ในแต่ละกลุ่มไว้แล้วตั้งแต่แรก ที่แหล่งข่าวทราบกันดีว่า บริษัทรถรายใหญ่จากญี่ปุ่นจะได้รถร้อน 1,659 คันไปทั้งหมด ส่วนรถปรับอากาศ 1,524 คันจะเป็นของค่ายรถจีน

นอกจากนี้ ยังมีการแว่วแบบข้ามช็อตไปอีกว่า มีการ “ล็อกสเปก” ไว้สำหรับการประมูลติดตั้งระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket ) ป้ายอัจฉริยะต่างๆ บนตัวรถในอนาคตแล้วด้วย

จนกระทรวงคมนาคมดิ้นพล่านจัดให้แสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์เพื่อปรับปรุงทีโออาร์มาระยะใหญ่ๆ

แม้จะมีการจัดทำทีโออาร์เพื่อหวังว่าหาตราประทับเรื่องความโปร่งใส ทว่างานนี้ก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตอยู่ดีว่า รัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะขจัดเรื่องข้อครหาให้หมด

เพราะยังกั๊กๆ เหมือนไม่กล้าตัดรายละเอียดบางอย่างที่มีความกังวลออกแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนจะมีอะไรเป็นชนักปักหลังค้ำคออยู่

หรืออาจจะมีการตัดข้อกังวลออก แต่ก็ยังเติมบางอย่างเข้าไปให้มีเรื่องแอบแฝงอยู่!!

ตามคิวคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกาะติดเรื่องนี้มานาน ต้องส่งข้อท้วงติงไปสะกิด เพราะยังมีจุดพิรุธอีกเพียบ

ตามสภาพที่ออกมา เมื่อยังมีอะไรไม่เคลียร์ในหลายจุด แม้รัฐบาลจะมีมติครม.ออกมาเหมือนจะเข้าใกล้ฝั่ง แต่หากยังทำลับๆ ล่อๆ ส่อไปในทางไม่ดี พะยี่ห้อของถนัด “นายใหญ่”

ความหวังที่คนกรุงจะนั่งรถเมล์แบบสบายใจ คงยังไกลเหมือนเดิม

งานนี้คนกรุงคงต้องเป็น “แม่สายบัว” รอคอยของใหม่กันต่อไป เพราะทำท่าจะ “ฝันค้าง” กันอีกแล้ว
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น