รฟม.รับฟังความเห็นโมโนเรลสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) ชาวบ้านเสนอมุดดินช่วงลาดพร้าว-มอเตอร์เวย์ เหตุถนนแคบกระทบหวั่นเวนคืนสูง เตรียมทำความเข้าใจกลุ่มย่อย เผยวงเงินลงทุนรวม 4.8 หมื่นล.แจงเน้นเวนคืนทำทางขึ้นลงกับเดปโป้ คาดเปิดประมูลได้ต้นปี 57 เล็งแหล่งเงินกู้อื่นแทนหาก กู้ 2 ลล.ไม่ผ่าน
นายชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความเห็นงานศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ครั้งที่ 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนว่า
เป็นการรับฟังความเห็นของประชาชนในช่วงท้ายของการศึกษาออกแบบ เพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการยกเว้นพื้นที่ตัดผ่านถนนลาดพร้าว ซึ่งถนนแคบและจะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างบันไดทางขึ้นลงสถานีจึงยังมีเสียงคัดค้านบ้างซึ่งจะมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจอีกครั้ง โดยตามแผนจะสรุปผลการศึกษาภายในสิ้นปีนี้ เปิดประกวดราคาต้นปี 2557 เริ่มก่อสร้าง ปี 2558 เปิดให้บริการปี 2561
ทั้งนี้ รฟม.ได้ทำการศึกษาโครงการถไฟฟ้าสายสีเหลือง รฟม. ศึกษาออกแบบตั้งแต่ต้นปี 2556 ขณะนี้เป็นช่วงสุดท้ายแล้ว ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนา ส่วนใหญ่กังวลเรื่องการเวนคืนที่ดิน โดยเฉพาะบนถนนลาดพร้าวซึ่งแคบและจะมีการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางขึ้นลงสถานี 4 จุด จะส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ และความเป็นอยู่ของประชาชน จากปัญหาเสียงและความสั่นสะเทือน
นอกจากนี้มีการเสนอปรับรูปแบบช่วงถนนลาดพร้าวจนถึงถนนมอเตอร์เวย์ เป็นระบบใต้ดิน และจากถนนมอเตอร์เวย์-สำโรงเป็นโครงสร้างยกระดับ พร้อมกับเสนอให้ตั้งกองทุนดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งที่ถูกเวนคืนและจากการก่อสร้าง เพราะดูจากโครงการอื่นๆ พบกิจการหลายแห่งต้องปิดตัว บางคนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เป็นต้น
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) รวมระยะทาง 30 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยรัฐลงทุนงานก่อสร้างด้านโยธา วงเงินก่อสร้างประมาณ 20,000 ล้านบาท และให้เอกชนลงทุนระบบรถ วงเงินประมาณ 28,000 ล้านบาท เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล จุผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000-40,000 คน/ชม./ทิศทาง ความเร็ว 80 กม./ชม. เบื้องต้นกำหนดใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทแต่หากมีปัญหาอาจจะใช้เงินกู้จากแหล่งอื่นแทน
โดนแนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามเกาะกลางถนนลาดพร้าวจนถึงแยกบางกะปิ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนศรีนครินทร์ โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มบริเวณแยกลำสาลี และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ที่สถานีหัวหมาก ผ่านแยกพัฒนาการโดยประสานกับกทม.ออกแบบก่อสร้างไปพร้อมกับโครงการอุโมงค์ทางลอดแยกพัฒนาการ ผ่านแยกศรีนุช(ถนนศรีนครินทร์-ถนนอ่อนนุช) แยกศรีอุดม(ถนนศรีนครินทร์-ถนนอุดมสุข) ซึ่งจุดนี้แนวเส้นทางจะเบี่ยงออกด้านซ้ายเพื่อหลบแนวอุโมงค์ทางลอดแยกศรีอุดม เมื่อพ้นแล้วแนวเส้นทางจะวกกลับมาใช้แนวเกาะกลางถนนตามเดิม ผ่านแยกศรีเอี่ยม โดยลอดใต้ทางพิเศษสายบูรพาวิถี หรือทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี วิ่งตรงจนถึงแยกศรีเทพ(ถนนศรีนครินทร์-ถนนเทพารักษ์) ก่อนจะเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกของถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง
มีทั้งหมด 23 สถานี ได้แก่ สถานีรัชดา สถานีภาวนา สถานีโชคชัย4 สถานีลาดพร้าว71 สถานีลาดพร้าว 83 สถานีมหาดไทย สถานีลาดพร้าว101 สถานีบางกะปิ สถานีลำสาลี สถานีศรีกรีฑา สถานีพัฒนาการ สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีลาซาล สถานีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุง พร้อมอาคารจอดรถ1 แห่ง จอดรถได้ 3,000 คัน อยู่บริเวณใกล้แยกทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์ ตัดถนนบางนา-ตราด พื้นที่ประมาณ 112 ไร่ โดยการเวนคืนและขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวง