“ชัชชาติ” เผย กก.กลั่นกรองเห็นชอบจัดซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน วงเงิน 4.85 พันล้านแล้ว จ่อชง ครม.ใน 2 สัปดาห์ พร้อมเร่งสรุปแผนแยกบริหารจาก ร.ฟ.ท. คาดเสนอ กนร.ภายใน พ.ย.นี้ โดย ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% คาดทุนเพิ่มเป็นกว่า 8 พันล้าน สถานะแข็งแกร่ง รับรู้รายได้เอง คาดหลังปีที่ 10 มีกำไร ขณะที่เตรียมรื้อบอร์ดใหม่ยกชุดเพื่อความเหมาะสม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวนว่า ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแล้วโดยไม่จำกัดในเรื่องระบบอาณัติสัญญาณว่าต้องเป็นของยี่ห้อใด เพื่อไม่ให้ผูกขาดและให้สามารถเลือกระบบที่ดีในอนาคตได้ ซึ่งคาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์นี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ โดยล่าสุดได้ปรับลดกรอบวงเงินจัดซื้อจาก 5,200 ล้านบาท มาอยู่ที่ประมาณ 4,855 ล้านบาท
ส่วนโครงสร้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (ผู้เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์) นั้นขณะนี้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าจะแยกออกจากออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดย ร.ฟ.ท.ยังคงถือหุ้น 100% แต่แอร์พอร์ตลิงก์จะมีอิสระในการบริหารงานมากขึ้น สามารถรับรู้รายได้ด้วยตนเอง ส่วนทุนจะมาจาก 2 ส่วน คือ การโอนมูลค่ารถไฟฟ้า 9 ขบวนวงเงินกว่า 6,000 ล้านบาทที่เป็นหนี้ของ ร.ฟ.ท.มาเป็นทุนและเงินลงทุนของ ร.ฟ.ท.อีก 2,000 ล้านบาท โดยช่วงแรกจะบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จะมีทุนเพิ่มจาก 140 ล้านบาท เป็นประมาณ 8,000 ล้านบาท และยังทำให้มีเงินหมุนเวียนสำหรับเป็นค่าบริหารจัดการ ค่าจัดซื้ออะไหล่สำรองอีกด้วย
โดยเป้าหมายสำคัญในการแยกการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท. คือ เมื่อแอร์พอร์ตลิงก์มีทุนจดทะเบียนและมีรายได้เป็นของตัวเองจะสามารถกู้เงินเพื่อซื้อรถได้เอง โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันโดยตรง ซึ่งการมีขบวนรถมาให้บริการเพิ่มจะทำให้แอร์พอร์ตลิงก์มีรายได้เพิ่ม และตามการศึกษาคาดว่า ในช่วง 5 ปีแรกรายได้จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายและค่าดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถ 7 ขบวน แต่ในภาพรวมทางการเงินจะยังขาดทุนอยู่ เพราะจะต้องทยอยจ่ายเงินต้นบางส่วน แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนหลังปรับปีที่ 10 ไปแล้ว
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวได้มีการนำเสนอเบื้องต้นต่อที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง, กระทรวงคมนาคม, ร.ฟ.ท. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและตกลงร่วมกันถึงแนวทางการแยกบริหารและให้แอร์พอร์ตลิงก์ควรรับรู้รายได้เอง ส่วนหนี้ค่ารถ 9 ขบวนแรกที่ ร.ฟ.ท.เป็นผู้กู้นั้น จะตัดหนี้กับกระทรวงการคลังโดยให้คลังเช่าที่ดินรถไฟโดยจะเร่งสรุปรายละเอียดรูปแบบดังกล่าวเสนอคณะกรรมการ คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.)ได้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมทั้งเสนอกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังเห็นชอบ เพื่อเดินหน้าตามขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกหากกระบวนการแยกแอร์พอร์ตลิงก์ยังไม่แล้วเสร็จ การจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวนจะให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินไปก่อน และโอนหนี้ให้แอร์พอร์ตลิงก์ภายหลัง นอกจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ (บอร์ด) แอร์พอร์ตลิงก์ใหม่ด้วยเพื่อความเหมาะสม โดยจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ที่มีนายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ เป็นประธานในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท แอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อลงมติตามขั้นตอนซึ่งคาดว่า นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม จะเป็นประธานบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์คนใหม่