xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” อุ้มลูกค้าอ่วมน้ำท่วม เบรกจ่ายดอก 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนูญรัตน์  เลิศโกมลสุข  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
“เอสเอ็มอีแบงก์” ช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วม ยืดเงินต้น หยุดพักชำระดอกเบื้ย 3เดือน พร้อมลุยสางหนี้เสีย เตรียมโละหนี้เอ็นพีเอขาย บสส. แถมเล็งเสนอบอร์ดขอตัดหนี้เน่าของเก่าทิ้ง

นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากผลกระทบภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด จึงได้สั่งการให้ผู้จัดการสาขาดูแลลูกค้ารายที่ได้รับผลประทบจากน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยรายใดได้รับความเสียหายมากจะยืดเงินต้น หรือหยุดพักชำระดอกเบี้ยให้ลูกค้าเป็นเวลา 3 เดือน โดยการให้ความช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายกรณี โดยขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมในรูปแบบแพกเกจสินเชื่อนั้น ต้องรอนโยบายจากรัฐบาลอีกครั้ง

กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์เผยด้วยว่า สำหรับแผนการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปีนี้ (2556) เน้นให้บริการสินเชื่อแฟกตอริ่ง สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาของหน่วยงานราชการทั้งองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และองค์กรคลังสินค้า (อคส.) ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท และร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต หรือพีไอแอล วงเงิน 20,000 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 101,000 ล้านบาท

ในด้วยการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าในปีนี้จะได้ตามเป้าที่วางไว้ เนื่องจากกำลังเจรจากับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) เพื่อขายสินทรัพย์รอการขายหรือเอ็นพีเออีประมาณ 2,000 ล้านบาท และขอคณะกรรมการธนาคารอนุมัติตัดหนี้เป็นสูญวงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาหนี้เสียประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังต้องการให้หนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 28,850 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 32,000 ล้านบาท

นายมนูญรัตน์ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารได้แก้ปัญหาหนี้เสียได้แล้วประมาณ 5,400 ล้านบาท แต่กลับมีหนี้ตกชั้นเป็นหนี้เสียประมาณ 5,000 ล้านบาท จึงทำให้ดูเหมือนว่าตัวเลขเอ็นพีแอลเท่าเดิม แต่ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาเชื่อว่าปลายปีนี้ทำได้แน่นอน ส่วนสาเหตุที่ลูกหนี้ตกชั้นเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปลายปี 2554 ที่ผ่านมาเนื่องจาก ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกค้า แต่เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาไม่สามารถที่จะคืนหนี้ให้กับธนาคารได้จึงตัดหนี้เป็นสูญ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น