“ทนง พิทยะ” อดีต รมว.คลัง ชี้ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยโตลดลง แม้การส่งออกจะดี แต่ปัญหาเรื้อรังของอเมริกาเรื่อง QE ไม่ชัดเจนยังคงฉุดเศรษฐกิจไม่โตตามเป้า แนะรัฐปรับกลยุทธ์บริหารประเทศใหม่ เหตุโครงการประชานิยม “บ้านหลังแรก&รถคันแรก” สร้างหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธาระพุ่ง เน้นผลักดันความสามารถการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น เพื่อการแข่งขันในอาเซียน
นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่จะเติบโตดีขึ้นเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักมาจากตัวเลขภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยลงมาอยู่ที่ 2.5% ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยน 31 บาท/1 ดอลล่าห์สหรัฐ โดยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศยังมีความแข็งแกร่ง ปัจจัยลบใหม่ๆ ยังไม่มีมาเพิ่ม นอกจากปัญหาความเชื่อมั่นในการเมืองภายในประเทศ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป และอเมริกา ที่จะต้องจับตามองในส่วนของมาตรการการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ซึ่งมีแนวโน้มที่จะยังคงไว้แม้จะลดปริมาณเม็ดเงินอัดฉีดเข้าในระบบ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีสัญญาณการเริ่มฟื้นตัวแต่ไม่ชัดเจนมากนัก และตัวเลขการว่างงานยังอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 7% ตามการคาดการณ์
“ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจของประเทศไทยยังเติบโตขึ้นในอัตราลดลงเพียง 4-4.5% แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ในส่วนของภาคการส่งออกอาจกระเตื้องขึ้นบ้างจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าส่งออกมีความผ่อนคลายมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ ทิศทางเศรษฐกิจในอเมริกาที่ยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ต่อไปอย่างน้อยอีก 12-18 เดือน เพราะตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีหลายปัจจัยที่ยังไม่เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ โดยที่จริงๆ แล้วมีหลายเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเอาใจใส่ ส่วนเรื่องกำลังซื้อภายในประเทศที่ผ่านมาชะลอตัวลงมาจากนโยบายประชานิยมที่ให้เกิดหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องชะลอนโยบายส่วนนี้ลง และหันมาลงทุนหรือพัฒนาแรงงาน รวมถึงภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ของภาคประชาชนให้สูงขึ้นมากกว่า”
ทั้งนี้ ในส่วนของกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง มองว่าในระยะสั้นกำลังซื้อที่ปรับตัวลดลงนั้น ตัวเลขอาจยังไม่น่าใช่สิ่งแรกที่น่ากังวล เพราะที่ผ่านมา กำลังซื้อของคนในประเทศสูงขึ้นเพราะการดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนมีความสามารถในการสร้างรายได้ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม แนะให้ภาครัฐลดนโยบายประชานิยมลง และหันมาผลักดันความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น เพื่อการแข่งขันในอาเซียนมากกว่า รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน และผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้รวมของประเทศให้สูงขึ้น ส่วนหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและประชาชนลดปริมาณการใช้จ่ายเงินลด ถือเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลต้องหามาตรการแก้ใข เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เป็นหนี้ที่อยู่อาศัยจากนโยบายบ้านหลังแรกนั้น ยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้เพราะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ทั้งนี้ไม่ควรประมาทเพราะในอนาคตอาจเกิดวิกฤตฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ได้ ในส่วนของหนี้ภาคครัวเรือนที่มาจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ซึ่งนโยบายนี้ได้หมดลงแล้วจึงไม่น่ากังวลมากนัก แต่ในขณะนี้หากมองลึกลงไปอุตสาหกรรมยานยนต์หลังนโยบายรถคันแรก ซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ในการผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ได้ ยอมให้โดนยึดคืน ทำให้แนวโน้มรถยนต์มือ 2 จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
“ต้องดูว่าหนี้นั้นมาจากไหน ถ้าเป็นหนี้ที่กู้มาแล้วใช้หมดไปอันนี้น่าเป็นห่วง แต่โดยส่วนใหญ่ก็มีหนี้มาจากการซื้อบ้าน ซึ่งตรงนี้ไม่น่ากังวล เพราะบ้านมีมูลค่าเพิ่มอยู่ในตัว และเมื่อตัดหนี้ในส่วนของบ้านออก จะเห็นว่าตัวเลขของหนี้ที่เหลืออยู่ไม่ได้สูงมากนัก จากการศึกษา และใช้เครื่องมือต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมาดีอยู่แล้ว แต่ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นคือ การศึกษาผลกระทบจากภายนอก ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้การกำหนดนโยบาย หรือมาตรการต่างๆ สามารถที่จะรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดีขึ้น”
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการดำเนินนโยบายทางการเงินที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งคือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และส่งผลให้ภาคการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการศึกษา และใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อหาความสมดุลระหว่างอัตราดอกเบี้ยให้มีความสมดุลกับสภาพคล่องทางการเงินต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางดอกเบี้ยว่าจะเป็นอย่างไร แต่การศึกษาที่ผ่านมานั้นเน้นการศึกษาในวงวิชาการมากเกินไป ไม่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบจากภาพรวมของเศรษฐกิจภายนอกเท่าที่ควร