xs
xsm
sm
md
lg

“บอร์ด กนง.” ประเมิน “ค่าบาท” ครึ่งหลังปี 56 พร้อมแนะ ครม.ใหม่ฉับไวทัน ศก. ผันผวนเร็ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บอร์ด กนง.” ประเมินทิศทาง “เงินบาท” ครึ่งหลังปีนี้ แนวโน้ม “ผันผวน” คาดอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี เผยระดับ “จีดีพี” โตที่ 4% ยังน่าพอใจ แต่ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง และกำลังซื้อหดตัวแรง พร้อมแนะ ครม.ชุดใหม่ ต้องฉับไว ทันเวลากับสถานการณ์ ศก. ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในงานสัมมนา “อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท และการลงทุน” โดยมองว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปีนี้มีความผันผวนสูง โดยประเมินว่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวระหว่าง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่ามากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากกระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่ปีนี้น้อยกว่าปีก่อน รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะทยอยลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐน มีสัญญาณดีขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสแข็งค่าขึ้น

ดังนั้น คาดว่าปีนี้เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิจะเป็นการไหลออก แตกต่างจากปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรเป็นซื้อสุทธิ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวร้อยละ 4-5 โดยเป็นระดับที่น่าพอใจ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจยังสมดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล เพราะดุลบริการดี

ทั้งนี้ คงต้องจับตาปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นเกินร้อยละ 80 ของจีดีพี แต่หนี้ภาครัฐยังต่ำไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจยังต่ำเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การบริโภคที่ชะลอตัวลงมากเนื่องจากผู้บริโภคนำเงินไปผ่อนชำระรถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรก ทำให้เบียดกำลังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง ซึ่งทำให้ภาคอุปโภคบริโภคเติบโตต่ำ ประกอบกับภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว จึงทำให้มีการปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง

นายณรงค์ชัย กล่าวถึงการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ โดยแนะนำว่า ต้องมีการบริหารงานอย่างรวดเร็ว โดยแนะนำให้ประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้มีการออกมาตรการได้รวดเร็ว และทันเวลากับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น