แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ เตือนเงินทุนยังผันผวน “กนง.-กนส.” เห็นตรงกัน ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าหนี้บางส่วนจะใช้ในการซื้อบ้าน และสินทรัพย์ถาวร แต่อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนลดลง พร้อมจับตาสินเชื่อการบริโภค
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) โดยที่ประชุมเห็นว่า ภาพรวมระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีเสถียรภาพ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว แม้จะชะลอลงในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 จากอุปสงค์ในประเทศ หลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้า โดยมีแรงส่งจากปัจจัยพื้นฐานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ภาคการส่งออกทรงตัว และขยายตัวช้าๆ ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก อนึ่ง ตัวเลขส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปียังขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค อย่างไรก็ดี มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานสูง และมีอัตรากำไรต่ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
ส่วนตลาดการเงิน การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปีสะท้อนการปรับตัวของค่าเงินบาทหลังจากเงินสกุลอื่นในภูมิภาคแข็งค่าไปในปีก่อนแล้ว และเป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะยาว สะท้อนถึงความต้องการลงทุนที่แท้จริงในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี เงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีแนวโน้มผันผวน และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในระยะต่อไป ทั้งจากผลของการดาเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ตลอดจนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนเงินทุนไหลเข้า แต่ขณะเดียวกัน ตลาดการเงินยังอ่อนไหวอยู่มากต่อข่าวสาร เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการลดระดับสภาพคล่องในตลาดเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้
ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคง สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค และสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นหลัก แม้จะเริ่มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ คุณภาพสินเชื่อโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี เงินกองทุน และเงินสำรองอยู่ในระดับสูง ช่วยรองรับปัจจัยเสี่ยง และความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวและการแข่งขันที่สูงของสินเชื่ออุปโภคบริโภค และสินเชื่อเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเร่งขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าหนี้ครัวเรือนบางส่วนจะใช้ในการซื้อบ้าน และสินทรัพย์ถาวร แต่อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนลดลง และส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้อ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย