xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก BBL ถกทิศทางดอกเบี้ย-จับตา ธปท.ออกเกณฑ์คุมสินเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊กแบงก์กรุงเทพ เตรียมหารือทิศทางดอกเบี้ยหลัง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% ระบุเป็นการลดเพื่อตอบสนอง ศก.ที่ชะลอลง แต่ยังไม่ใช่ระดับที่กระตุ้นการบริโภคได้ ด้านไทยพาณิชย์ ชี้จับตาออกมาตรการคุมปล่อยกู้อสังหาฯ ควบคู่

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เป็น 2.50% ว่า ในส่วนของธนาคารจะพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ซึ่งจะรู้ผลภายใน 1-2 วันนี้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นการปรับลดครั้งแรกนับแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นมา

ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎฺ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยลง 0.25% ของ กนง.ในครั้งนี้ เป็นเพียงการตอบสนองต่อการที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 56 ชะลอตัวลง เนื่องจากการส่งออกเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายหลังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าว ยังไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคให้ปรับฟื้นตัวขึ้นได้

อย่่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งนี้คงไม่กระทบเงินออมมากนัก เพราะเป็นการปรับลดลงในอัตราที่ไม่มากนัก ขณะที่ในบางประเทศอัตราดอกเบี้ยต่ำใกล้ 0%

จับตา ธปท.ออกเกณฑ์คุมอสังหาฯ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับ 2.50% จนถึงสิ้นปี หนี้ครัวเรือน และความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมมีไม่มากนัก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีราว 5% แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดในไตรมาสแรกก็ตาม โดยการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว และการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวไปตามคาดจะเป็นแรงส่งเพิ่มเติมให้แก่เศรษฐกิจไทยในปีนี้

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูมาตรการกำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ธปท.อาจมีการใช้มาตรการ Macroprudential เพิ่มเติม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดอัตราส่วนวงเงินกู้ต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV) ลงสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป เพื่อชะลอความร้อนแรงในการเก็งกำไรที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่
กำลังโหลดความคิดเห็น